ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

การที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจว่า นักภูมิศาสตร์มีมุมมองเรื่องของโลกในมิติของการผสมผสานปรากฏการณ์ทางพื้นที่กับเวลา ได้นั้นเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย หากแต่บทความชุด มองข้อมูลประชากรในมิติของพื้นที่กับเวลาของนักภูมิศาสตร์จะสามารถบอกเล่ามุมมองของนักภูมิศาสตร์ได้บ้าง และคงจะเกิดประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาหรือกำลังศึกษาวิชาการด้านภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคลากรในภาครัฐและเอกชนซึ่งจะเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ในมิติทางพื้นที่และเวลาเหมือนที่นักภูมิศาสตร์มองเห็น

 ตอนที่ 1 มองเชียงใหม่จากข้อมูลประชากรในภาพกว้าง

เมื่อจังหวัดเชียงใหม่มีรูปทรงในแนวยาวมากกว่าแนวกว้าง โดยตั้งอยู่ในแอ่งเชียงใหม่ซึ่งล้อมรอบด้วยทิวเขาจากเหนือจรดใต้โดยฝั่งตะวันออกคือทิวเขาขุนตาล ฝั่งตะวันตกคือทิวเขาอินทนนท์ ตอนกลางมีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน พื้นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นที่ที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบเชิงเขา

 

จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีลักษณะเด่น คือ เมืองท่องเที่ยว” “เมืองวัฒนธรรม” “เมืองเกษตรกรรมและ เมืองมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการเมืองเชียงใหม่ให้คงความโดดเด่นทั้ง 4 ลักษณะดังกล่าวข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ในฐานะนักภูมิศาสตร์พบว่า หากนำข้อมูลจำนวนประชากรมานำเสนอในมิติของพื้นที่และเวลา สิ่งที่ปรากฏจะเป็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในการบริหารจัดการเมือง การดำเนินการทางธุรกิจ และการใช้ชีวิตในพื้นที่

จากข้อมูลตัวเลขประชากรที่ได้จาก Web Site ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พบว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ (เมื่อนับรวมกรุงเทพมหานครเป็น 1 จังหวัด) มีประชากรถึง 1.73 ล้านคนเศษ และมีประชากรที่ไม่ได้สัญชาติไทยมากที่สุดของประเทศโดยมีถึง 1.3 แสนคนเศษ (ประมาณ 7 % ของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ และประมาณ 15 % ของประชากรที่ไม่ได้สัญชาติไทยทั้งประเทศ)

จำนวนประชากรของจังหวัดเชียงใหม่แต่ละอำเภอ

เมื่อนำข้อมูลมาแจกแจงเป็นแผนภูมิเปรียบเทียบจำนวนประชากรปี พ.ศ. 2559 กับปี พ.ศ. 2557 (ย้อนหลัง 3 ปี) และปี พ.ศ. 2555 (ย้อนหลัง 5 ปี) พบว่าข้อมูลที่ปรากฏโดดเด่น คือ

-          อำเภอเวียงแหงมีการเพิ่มขึ้นของประชากรจากปี พ.ศ. 2557, พ.ศ. 2559 ในสัดส่วนที่สูงกว่าอำเภออื่น

 

เมื่อนำเอาข้อมูลประชากรรายอำเภอจากปี พ.ศ. 2555, พ.ศ. 2559 มาแสดงเป็น แผนที่” (มีหลายมุมมอง หลายวิธีการในการนำข้อมูลมาแสดงเป็นแผนที่ เช่น มุมมอง Choropleth Map, Isopleth Map, Proportional symbol Map, Dot Map ฯลฯ และหรือโดยวิธี Natural breaks, Maximum breaks, Pretty breaks, Quantile, Equal interval, Equal area, Standard deviation ฯลฯ ทั้งนี้ได้เลือกมุมมองและวิธีการที่เหมาะสมในสถานการณ์การมองข้อมูลประชากรในภาพกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป) พบว่า

ปี พ.ศ. 2559

 

-          จำนวนประชากรมากที่สุดอยู่ที่ อำเภอเมืองประชากร 234837 คน (ซึ่งอยู่ในช่วง 200,000 – 250,000 คน) รองลงมาคืออำเภอสันทราย ประชากร 131,414 คน และอำเภอฝาง ประชากร 118,075 คน (ซึ่งอยู่ในช่วง 100,001 – 150,000 คน)

 

ปี พ.ศ. 2555 (5 ปีย้อนหลัง)

 

-          ประชากรมากที่สุดยังเป็นอำเภอเมือง แต่ประชากรปี 2555 (มีประชากร 235,059 คน) จะมากกว่า ปี 2559 (มีประชากร 234,837 คน)  ส่วนอันดับรองลงมาคืออำเภอสันทราย และ อำเภอฝาง  เช่นเดิม โดยอำเภอสันทรายมีประชากร 121,262 คน และอำเภอฝางมีประชากร 112,035 คน (ซึ่งอยู่ในช่วง 100,001 – 150,000 คน)

 

เปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนประชากรรายอำเภอในระยะ 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2559

เมื่อพิจารณาการเปรียบแปลงของจำนวนประชากรปี 2559 จากปี 2555 เป็นร้อยละของการเพิ่มขึ้นและลดลงของประชากร พบว่า

-          ในปี พ.ศ. 2559 มีเพียง 4 อำเภอที่ประชากรลดลงจากปี พ.ศ. 2555 คือ อำเภอสันป่าตอง อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอพร้าวและอำเภอดอยหล่อ แต่ประชากรลดลงไม่เกินร้อยละ 2

-          ส่วนอำเภอที่ประชากรเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 มีอำเภอเวียงแหงที่ประชากรเพิ่มขึ้นสูงอย่างชัดเจนคือ ประชากรเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ถึงร้อยละ 39.27 รองลงมาคือ อำเภอเชียงดาว ประชากรเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ร้อยละ 10.66 ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรในอำเภออื่นๆ จะเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงประชากรอำเภอเวียงแหงที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 สูงถึง 39.27 % พบว่าจำนวนประชากรที่เกิดใหม่ในอำเภอเวียงแหงยังไม่เพิ่มมากกว่าปกติและมีอัตราการเกิดค่อนข้างคงที่ คือ อยู่ในช่วงประมาณ 150 ถึง 200 กว่าคน (แผนภูมิ 1) ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใหม่ (แผนภูมิ 2)

 

จึงคาดการณ์เบื้องต้นได้ว่า จำนวนประชากรในอำเภอเวียงแหงจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุหลักคือ เกิดจากการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ของประชากรต่างถิ่น

..........................................................................................................................................................................

จำนวนประชากรและการเพิ่มขึ้น/ลดลงของประชากรเมื่อเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลาอาจจะทำให้มองเห็นประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ในภาพกว้าง สำหรับนักภูมิศาสตร์คงยังไม่พอ การมองภาพลึกในมิติของพื้นที่จากข้อมูลประชากรยังจะทำให้เห็นภาพของเมืองเชียงใหม่ในบางด้านบางมุม ซึ่งนักบริหาร นักวิชาการ นักธุรกิจหรือใครก็ตาม อาจจะมองเห็นโอกาส อุปสรรค ผลกระทบ การป้องกัน การแก้ปัญหาและอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในตอนที่ 2