ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

สภาพอากาศ (Weather)และภูมิอากาศ (Climate) แตกต่างกันอย่างไร 

เรื่องของอากาศที่ครอบคลุมทั่วพื้นผิวโลก มีการเรียนรู้ การรับรู้ และการศึกษาสภาพบรรยากาศมาช้านาน หลายคนเข้าใจยาก หลายคนเข้าใจแต่อธิบายยาก นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการรู้โลก จะทำให้รู้เราว่าควรจะทำอย่างไร

สภาพอากาศโดยทั่วไปจะหมายถึง อุณหภูมิ ความชื้น เมฆ หมอก ลม ฝน และทัศนวิสัย การรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ (Weather) เป็นการเรียนรู้สภาพของอากาศในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตาม วัน เวลาและสถานที่ เช่น ลมฟ้าอากาศที่กรุงเทพมหานครในวันนี้ อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนการรู้เรื่องภูมิอากาศ (Climate) ก็เป็นการเรียนรู้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ภูมิอากาศจึงเป็นสภาพอากาศที่มีค่าปานกลางของแต่ละพื้นที่ เช่น ภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส

อากาศมีความแตกต่างกันเนื่องจากองค์ประกอบ 3 อย่างคือ อุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ โดยองค์ประกอบดังกล่าวเกิดจากการได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ และองค์ประกอบทั้งหมดจะแตกต่างกันเนื่องจาก 6 ปัจจัยหลัก คือ

1.       ระดับละติจูด : มีผลต่อการได้รับปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์เนื่องจากแกนของโลกเอียงจากแนวดิ่ง 23 องศา การโคจรรอบดวงอาทิตย์จึงเอียงไปด้วย ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์สลับกัน ในแต่ละพื้นที่จึงได้รับปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน

2.       ความแตกต่างระหว่างพื้นดินและพื้นน้ำ : พื้นดินและพื้นน้ำมีคุณสมบัติที่ต่างกัน มีผลต่อการคายและการดูดความร้อน โดย

2.1    พื้นน้ำจะโปร่งแสง แสงจะส่องผ่านได้ลึก เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ความร้อนจะกระจายออกไปกว้างและลึก ความร้อนส่วนหนึ่งจะถูกใช้สำหรับการระเหยของน้ำจึงทำให้พื้นน้ำร้อนช้ากว่าพื้นดิน ในส่วนที่ความร้อนกระจายไปลึกการคายความร้อนจึงเป็นไปได้ช้า

2.2    พื้นดินจะทึบแสง แสงจะส่องผ่านได้ยาก เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ความร้อนจะกระจายได้น้อย ความร้อนจะอยู่แค่ผิวดิน พื้นดินจึงร้อนเร็วกว่าพื้นน้ำ และคายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ

3.       ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของพื้นที่ : ชั้นบรรยากาศที่ถัดจากผิวโลกขึ้นไปคือ ชั้นโทรโพสเฟียร์(Troposphere) เป็นชั้นที่อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูงด้วยอัตรา 6.4 องศาเซลเซียส ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิปกติ นั่นคือ อุณหภูมิตามระดับความสูงของพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลจะลดลงไปด้วย

4.       กระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นกระแสน้ำที่เรียบชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นจากขั้วโลกมาศูนย์สูตร หรือ จากเขตร้อนไปละติจูดสูงก็จะมีผลต่ออุณหภูมิของอากาศบริเวณที่กระแสน้ำไหลผ่านด้วย

5.       ลักษณะภูมิประเทศ มีผลต่ออากาศ เช่น แนวเทือกเขาที่กั่นการเคลื่อนที่ของอากาศจะมีผลต่ออุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่อยู่คนละด้านของเทือกเขา

6.       มนุษย์ เป็นผู้สร้างกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่ออากาศ ทั้งการใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า เป็นต้น