ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 

  การอ่านและแปลความหมายในแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 ตอน 1 การอ่านค่าพิกัด UTM

 ในการศึกษาหรืองานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไม่ว่าจะวิชาหรืองานใดๆ ก็ตาม สิ่งจำเป็นและต้องเข้าใจคือการใช้แผนที่ โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว การใช้แผนที่จะเป็นเนื้อหาวิชาที่กำหนดให้มีการเรียนการสอนให้กับเด็กเล็กๆ จนกระทั้งในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะสังเกตได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะสามารถใช้และอ่านแผนที่เป็น

แม้ว่าในปัจจุบันแผนที่จะถูกนำมาจัดเก็บและใช้งานผ่านระบบคอมพิวเตอร์แล้ว สำหรับการเดินทาง การสำรวจในบางพื้นที่หรือบางข้อจำกัดในการศึกษาทางพื้นที่ แผนที่กระดาษก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะแผนที่ในคอมพิวเตอร์ที่นำข้อมูลจากแผนที่กระดาษมาจัดเก็บเข้าสู่ระบบแล้ว ข้อจำกัดและความคลาดเคลื่อนในการใช้งานย่อมมีอยู่เสมอ แม้เครื่องมือที่ใช้จะทันสมัยก็ตาม ผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าใจข้อจำกัดนั้นๆ ด้วย เครื่อง GPS บางรุ่นเมื่อต้องวัดค่าตำแหน่งหรือความสูง ความคลาดเคลื่อนบางครั้งไม่สามารถนำมาใช้งานได้เลย เช่น เมื่อเดินทางเข้าไปในป่า การสำรวจทางน้ำหรือค่าความสูงเหนือระดับน้ำทะเล บางครั้งอาจจะคลาดเคลื่อนได้เป็นระยะถึง 100 เมตร เป็นต้น

ในการอ่านและแปลความหมายในแผนที่ภูมิประเทศ 1:50000 ตอน 1 จะกล่าวถึงการอ่านค่าพิกัดจากเส้นกริดระบบพิกัด UTM

 จากภาพข้างต้นจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50000 จะสังเกตได้ว่ามุมล่างซ้ายจะมีตัวเลขกำกับไว้ 2 ค่า คือ ค่าละติจูด และค่าลองจิจูด ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็น องศา ลิปดา พิลิปดา โดยค่าดังกล่าวจะเป็นค่าของมุมล่างซ้ายของแผนที่ระวาง (Sheet) นั้นๆ สำหรับค่าพิกัด UTM ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นเมตรนั้น ค่าที่ปรากฏจะกำกับเส้นกริดแนวตั้งและแนวนอน จากภาพจะพบว่า           

 เส้นกริดแนวตั้ง

 เส้นกริดแนวตั้งเส้นแรกจะมีค่ากำกับคือ 553000 m.E.

เส้นกริดแนวตั้งเส้นที่2 จะมีค่ากำกับคือ 54 ซึ่งมีค่าจริง คือ 554000 m.E. (ใช้หลักที่ 2และ3 มากำกับที่เส้น)

 เส้นกริดแนวตั้งเส้นที่3 จะมีค่ากำกับคือ 55 ซึ่งมีค่าจริง คือ 555000 m.E. (ใช้หลักที่ 2และ3 มากำกับที่เส้นเช่นกัน)

 เส้นกริดแนวตั้งเส้นที่ 4, 5, 6, … ก็จะมีลักษณะเดียวกัน

 จะสังเกตได้ว่าเส้นกริดแนวตั้งแต่ละเส้นจะห่างกัน 1000 m. (เกิดจากคำนวณระยะห่างจากค่าของเส้นกริด เช่น ระยะห่างของเส้นกริดแนวตั้งเส้นที่3 กับเส้นกริดแนวตั้งเส้นที่2 คือ 555000 m.E. - 554000 m.E. = 1000 m. หากแบ่งระยะระหว่างเส้นกริดออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆกัน แต่ละส่วนก็จะมีระยะเท่ากับ 100 m.)

 

เส้นกริดแนวนอน

 เส้นกริดแนวนอนเส้นแรกจะมีค่ากำกับคือ 2129000 m.N.

 เส้นกริดแนวนอนเส้นที่2 จะมีค่ากำกับคือ 2130 ซึ่งมีค่าจริง คือ 2130000 m.N. (ใช้หลักที่ 1,2,3และ4 มากำกับที่เส้น)

 เส้นกริดแนวนอนเส้นที่3 จะมีค่ากำกับคือ 31 ซึ่งมีค่าจริง คือ 2131000 m.N. (ใช้หลักที่ 3และ4 มากำกับที่เส้น)

 เส้นกริดแนวนอนเส้นที่4 จะมีค่ากำกับคือ 32 ซึ่งมีค่าจริง คือ 2132000 m.N. (ใช้หลักที่ 3และ4 มากำกับที่เส้นเช่นกัน)

 เส้นกริดแนวนอนเส้นที่ 5, 6, 7, … ก็จะมีลักษณะเดียวกับเส้นกริดแนวนอนเส้นที่ 3 และ 4

 จะสังเกตได้ว่าเส้นกริดแนวนอนแต่ละเส้นจะห่างกัน 1000 m. (เกิดจากคำนวณระยะห่างจากค่าของเส้นกริด เช่น ระยะห่างของเส้นกริดแนวนอนเส้นที่3 กับเส้นกริดแนวนอนเส้นที่2 คือ 2131000 m.N. - 2130000 m.E. = 1000 m. หากแบ่งระยะระหว่างเส้นกริดออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆกัน แต่ละส่วนก็จะมีระยะเท่ากับ 100 m.)

การอ่านค่าพิกัด

  

 เมื่ออ่านค่าพิกัดของเส้นกริดเส้นแรกที่แนวตั้งและแนวนอน จะอ่านได้ คือ x = 553000 และค่า y = 2129000 หรือ (x,y) = (553000,2129000)

 หากจะอ่านละเอียดขึ้นเราสามารถแบ่งระยะระหว่างเส้นกริดออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆกัน แต่ละส่วนก็จะมีระยะเท่ากับ 100 m. ได้ตามที่กล่าวมาแล้ว

 จากภาพเมื่อแบ่งระยะระหว่างเส้นกริดออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆกัน เราสามารถอ่านตำแหน่งพิกัดโรงเรียนบ้านหม้อตามระบบพิกัด UTM ได้ คือ (554100,2131100)

เราจะสังเกตได้ว่า หากใช้ Mobile หรือเครื่อง GPS แบบมือถือ หรือแผนที่ในระบบของ Google Map ฯลฯ แล้วอ่านค่าพิกัด UTM จะปรากฏค่าพิกัดในลักษณะข้างต้น อย่างไรก็ตาม ค่าพิกัดดังกล่าวจะมีความคลาดเคลื่อนแฝงอยู่ ในบางครั้งอาจจะคลาดเคลื่อนถึง 100-1000 เมตร

ดังนั้นเมื่ออ่านค่าจากโปรแกรม GIS ผู้ใช้ต้องเข้าใจหรือรับรู้ที่มาของชั้นข้อมูลแผนที่นั้นๆ ว่ามีความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลอย่างไร จะนำไปใช้กับงานอะไร ยอมรับได้หรือไม่  เช่น การวัดตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้าน การอ่านค่าพิกัดที่กลางหมู่บ้าน หรือท้ายหมู่บ้าน ค่าพิกัดที่ได้จะไม่เท่ากัน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าไปสู่หมู่บ้านนั้นๆได้โดยไม่ผิดพลาด หากต้องการความแม่นยำที่มากขึ้นแล้ว นอกจากจำเป็นต้องใช้แผนที่ที่มีความละเอียดในมาตราส่วนใหญ่ขึ้น หรือต้องใช้เครื่อง GPS ที่มีความละเอียดสูงหรือต้องนำค่าไปเทียบกับค่า Base Station แล้ว การกำหนดมาตรฐานการวัดค่าพิกัดก็มีความจำเป็น เช่น การวัดค่าพิกัดโรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ หรือสถานที่ราชการอื่น ๆ ให้วัดค่าพิกัดที่ตำแหน่งเสาธง เป็นต้น

 

อ่าน การอ่านและแปลความหมายในแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 ตอน 2 ที่ https://www.geo2gis.com/index.php/2016-01-29-05-50-20/256-contour-2

อ่าน การอ่านและแปลความหมายในแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 ตอน 3 ที่ https://www.geo2gis.com/index.php/2016-01-29-05-50-20/255-profile-contour-2