ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อได้รับเชิญไปบรรยายให้น้องใหม่ ภูมิศาสตร์ มช. ฟังในหัวข้อ แรงบันดาลใจ ประสบการณ์และการประยุกต์การศึกษาภูมิศาสตร์กับการทำงานรูปแบบต่างๆ ประกอบการเรียน การสอนวิชา 154108 : ภูมิศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ โดยให้บรรยายในวันที่ 20 กันยายน 2560 ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ซึ่งก่อนไปบรรยายได้ศึกษาข้อมูลพบว่า วิชานี้มีวัตถุประสงค์ของการเรียนคือ เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าใจถึงการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ ลักษณะและคุณสมบัติของนักภูมิศาสตร์ แนวทางการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงทิศทางการเรียน การสอนด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยและนานาประเทศ

หลังจากเตรียมเนื้อหาแล้ว พบว่ายากที่จะอธิบายให้น้อง ปี 1 เข้าใจ เพราะสิ่งที่ต้องบรรยายมีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นวิชาการทางภูมิศาสตร์ จึงค่อนข้างหนักใจในการสื่อสารอย่างมากแต่ก็ต้อง.....ลองดู

เหมือนเล่าประวัติตนเองที่เริ่มต้นคล้ายกับทุกคนคือ...ก่อนเข้ามาเรียนภูมิศาสตร์ มช. ก็ เลือกสอบเพื่อเข้าเรียนภูมิศาสตร์เป็นอันดับสุดท้าย มาเรียนโดยไม่รู้ว่าเรียนจบจะไปประกอบอาชีพอะไรนอกจากอาชีพครู

หากแต่ระหว่างเรียนมีโอกาสได้ช่วยงานอาจารย์ ได้ฝึกใช้วิชาการทางภูมิศาสตร์เขียนแผนที่ อ่านแผนที่ สำรวจเพื่อเก็บข้อมูล ทำแผนที่ คำนวณพื้นที่/ระยะทาง/ตำแหน่งบนแผนที่ รวมทั้งเขียนรายงานต่าง ๆ ....เลยทำให้มั่นใจว่าภูมิศาสตร์ทำได้มากกว่าการเป็นครู

เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ (ปี พ.ศ. 2530) ลองเขียนเอกสารโครงการไปเสนอตัวขอทำแผนที่เมืองเชียงใหม่บอกเส้นทางการเข้าถึงห้างสีสวน (ขณะนั้นห้างสีสวนเพิ่งสร้างใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองมาก ปัจจุบันไม่มีห้างสีสวนแล้ว) ผจก.ห้างสีสวนให้เงินมา 1 ก้อนตามที่เขียนขอไป ได้ทำแผนที่ขนาดใหญ่ติดหน้าห้างสีสวนอย่างโดดเด่น หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแบบสอบถาม สัมภาษณ์จัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูลโครงการ ซึ่งได้ความรู้ด้านงานวิจัยเพิ่มเติม ได้สั่งสมประสบการณ์ก่อนที่จะสอบเข้ารับราชการได้ที่ กองผังเมือง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ในตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ ได้ทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1: 6,000 ได้เขียนแผนที่ ลอกลายแผนที่ ย่อ-ขยายแผนที่ พิมพ์เขียวแผนที่จาก Tracing Paper สำรวจพื้นที่อาคาร ได้พบชาวบ้านพูดคุยสัมภาษณ์เก็บข้อมูล และอื่น ๆ อีกมากมาย

จนกระทั้งถูกส่งไปทำงานในโครงการ Bangkok Land Information System (BLIS) : โครงการ GIS โครงการแรกของประเทศไทย โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันของ 5 หน่วยงานคือ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย  เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯ  กรุงเทพมหานครได้นำเอาระบบ GIS มาประยุกต์ใช้ในภารกิจขององค์กรอย่างมากมาย แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างทำให้การประยุกต์ใช้งานระบบ GIS จึงทำได้เพียงเพื่องานที่ค้นหาและแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อบอกว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ตามแนวคิด ทฤษฎีทางพื้นที่หรือทางศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมิศาสตร์แทบจะไม่ปรากฏเลย จึงทำให้ต้องมาทบทวนว่าที่ผ่านมาได้เรียนอะไรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้บ้าง แต่เนื่องจากได้ถูกกำหนดให้เป็นหัวหน้าฝ่ายระบบเครือข่าย กองสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่พัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยตรง การประยุกต์ใช้แนวคิด ทฤษฎีเพื่อการวิเคราะห์เชิงพื้นที่จึงมีโอกาสน้อย ประกอบกับภายหลังถูกแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริการระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานด้าน Information Technology and Communication (ICT) ทำให้ได้พบเห็นแง่คิด มุมมองด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำมาผสมผสานกับศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือของนักภูมิศาสตร์ และได้ตกผลึกทางความคิดเป็นแนวคิดของนักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งทั้งหมดมีโอกาสบอกเล่ารายละเอียดไปบางส่วน

เมื่อจบการบรรยายพบว่า ด้วยเวลา 1 ชั่วโมงซึ่งค่อนข้างจำกัด เนื้อหาที่เป็นวิชาการจำนวนหนึ่งอาจจะตกหล่นไม่ครบถ้วน แต่เพื่อไม่ให้เนื้อหาที่เตรียมไปบรรยายเสียของ จึงขอนำเอาเรื่องราวทั้งหมดมาเขียนไว้ใน www.GEO2GIS.com โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ต่อจากตอนที่ 1 ดังนี้

เรื่องเล่าของนักภูมิศาสตร์ ตอน 2 : Bangkok Land Information System (BLIS) โครงการ GIS โครงการแรกของประเทศไทย

เรื่องเล่าของนักภูมิศาสตร์ ตอน 3 : การประยุกต์ใช้ GIS ของ กทม.

เรื่องเล่าของนักภูมิศาสตร์ ตอน 4 : ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เราเรียนอะไรบ้างและจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

เรื่องเล่าของนักภูมิศาสตร์ ตอน 5 : แนวคิดของ นักภูมิศาสตร์สมัยใหม่