ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

จากการปฏิบัติงานด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายระบบเครือข่าย กองสารสนเทศภูมิศาสตร์มีข้อจำกัดในการพัฒนาระบบ GIS และการประยุกต์ใช้ระบบ GIS พอสมควร เนื่องจากไม่ใช่ภารกิจที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ด้วยประสบการณ์และความรู้ ความชำนาญที่มีจึงมีโอกาสได้ทำงานพิเศษทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งในฐานะนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา อาจารย์สอนและบรรยายด้านการศึกษา ออกแบบ การพัฒนาโปรแกรม รวมทั้งการวิเคราะห์พื้นที่ และอื่น ๆ ให้กับหน่วยงาน สถาบันภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ จึงพบข้อเท็จจริงและสรุปได้ว่า แท้จริงแล้ว GIS เป็นเพียงเทคโนโลยีและเครื่องมือของผู้ใช้งานเท่านั้น หากผู้ใช้งานไม่มีองค์ความรู้ ไม่เข้าใจในศาสตร์แล้ว GIS ก็ตอบสนองความอยากรู้ได้แค่ มีอะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร เท่านั้น

ศาสตร์ทางพื้นที่ที่เรียกว่า ภูมิศาสตร์ มีความสำคัญอย่างไร ?” เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่สิ่งที่พบและชัดเจนในอดีตคือ ในรายงานการศึกษา การวิเคราะห์ วิจัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาต่าง ๆ เกือบทั้งหมดจะกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของพื้นที่ศึกษา ทั้งด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ทั้งนี้หากนักภูมิศาสตร์ได้ใช้แนวคิด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ศึกษาพื้นที่ศึกษานั้น ๆ  ผลที่ได้จะเกิดข้อมูลสนับสนุนการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่ใช้แนวคิด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์และน่าสนใจ เช่น

-                   ขณะที่ในโลกปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเป็นของตนเอง สามารถใช้แนวคิด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในแต่ละปี แต่ละฤดูกาลได้ว่า ผลผลิตด้านการเกษตรจะออกสู่ตลาดโลกเท่าไร ควรวางแผนการตลาดอย่างไร ใช้ทุนกักตุนสินค้า ซื้อ ขาย เกร็งกำไรอย่างไร   

-                   การศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้เกิดขบวนการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบางอย่าง เช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ภูเขา ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย

-                   การไม่รู้และไม่ใช้ข้อมูลระดับความสูงของภูมิประเทศ ทำให้ระบบการควบคุมการไหลของน้ำผิดพลาด เช่น กรณีการนำกระสอบทรายขนาดใหญ่ (Big Bag) มากั่นน้ำไม่ให้ไหลเข้าชุมชนเมื่อครั้งน้ำท่วม กทม. ปี 2554 พบว่าน้ำไม่สามารถไหลผ่านกระสอบทรายขนาดใหญ่ (Big Bag) ที่กั่นไว้ได้ แต่น้ำที่ไหลผ่านไปกลับไหลย้อนเข้ามาด้านหลังและคงท่วมชุมชนเช่นเดิม เพราะหน่วยงานรัฐไม่ใช้ข้อมูลระดับความสูงของภูมิประเทศเป็นแนวกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ

 ศาสตร์ทางพื้นที่ที่เรียกว่า ภูมิศาสตร์ ปัจจุบันมีการเรียนการสอนอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ค้นหาข้อมูลได้ทั่วไป แต่ที่ง่ายที่สุดคือค้นหาจาก Internet โดยสุ่มค้นข้อมูลจากหลักสูตรการเรียน การสอนด้านภูมิศาสตร์ของ 5 มหาวิทยาลัย (เท่าที่ค้นหาได้) คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากข้อมูลที่ได้พบว่า สามารถแบ่งเนื้อหาวิชาได้ 5 กลุ่ม คือ

1.             ภูมิประเทศ

2.             ภูมิอากาศ

3.             มนุษย์และสิ่งแวดล้อม

4.             เครื่องมือและเทคโนโลยี

5.             แนวคิดและทฤษฎี

ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีการเรียน การสอนวิชาต่าง ๆ ดังนี้

เมื่อนำข้อมูลจำนวนวิชาที่มีการเรียน การสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยมาประมวลจะพบว่า

ในกลุ่มวิชาเกี่ยวกับภูมิประเทศ กลุ่มวิชาเกี่ยวกับภูมิอากาศ มีจำนวนวิชาที่เปิดสอนเท่า ๆ กัน เนื้อหาวิชาคล้าย ๆ กัน

ในกลุ่มวิชาเกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แบ่งได้เป็นกลุ่มวิชาย่อยด้านมนุษย์ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เปิดสอนวิชากลุ่มนี้น้อยกว่าที่อื่น กลุ่มวิชาย่อยด้านระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีวิชาที่เปิดสอนมากกว่าที่อื่น  และกลุ่มวิชาย่อยด้านภูมิภาค ทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอนจำนวนเท่า ๆ กัน

ในกลุ่มวิชาเกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยี แบ่งได้เป็นกลุ่มวิชาย่อยด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การสำรวจข้อมูลระยะไกล แผนที่ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีจำนวนวิชาที่เปิดสอนเท่า ๆ กัน

ในกลุ่มวิชาเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎี จะพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะเปิดสอนวิชาด้านแนวคิดและทฤษฎีทางภูมิศาสตร์เท่า ๆ กัน นอกจากนั้นจะมีการสอนวิชาที่เป็นพื้นฐานการเรียนและวิชาที่สนับสนุนการนำวิชาชีพด้านภูมิศาสตร์ไปใช้งานในอนาคต

โดยรวมพบว่า

-                   จำนวนวิชาการและเนื้อหาที่มีเรียนการสอนทุกมหาวิทยาลัยคล้าย ๆ กัน ประกอบด้วย วิชาด้านภูมิประเทศ วิชาด้านภูมิอากาศ ด้านเครื่องมือและเทคโนโลยี ด้านแนวคิดและทฤษฎีทางภูมิศาสตร์

-                   วิชาด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม พบว่าวิชาด้านภูมิภาคศึกษาและด้านมนุษย์จะคล้ายกัน แต่ด้านระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม 5 มหาวิยาลัยอาจจะมีการเรียน การสอนที่เน้นแตกต่างกันไป   

-                   วิชาด้านแนวคิดและทฤษฎี พบว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีจำนวนวิชาที่เน้นการปูพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเรียนและการนำไปประกอบวิชาชีพมากกว่าที่อื่น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่สรุปเป็นเพียงการพิจารณาจากข้อมูลที่ค้นได้ในเบื้องต้นจาก 5 มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ชัดเจนคือ การเรียน การสอนด้านภูมิศาสตร์ในไทยจะมีเนื้อหาเป็น 5 กลุ่มชัดเจน คือ กลุ่มภูมิประเทศ กลุ่มภูมิอากาศ กลุ่มมนุษย์และสิ่งแวดล้อม กลุ่มเครื่องมือและเทคโนโลยี และกลุ่มแนวคิดและทฤษฎี  และหากพิจารณาข้อมูลจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พบว่าวิชาภูมิศาสตร์ระดับปริญญาตรีจะมีการเรียน การสอนที่มีเนื้อหาวิชาที่กล่าวถึงภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ถึงแม้ว่าจะเป็นหลักสูตรนานาชาติที่มีนักศึกษาจากต่างชาติมาเรียนก็ตาม ในขณะที่เนื้อหาวิชาภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในไทยพบว่า หลายมหาวิทยาลัยไม่เน้นเนื้อหาที่กล่าวถึงภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างชัดเจน หลายวิชาหายไป ไม่มีการเรียน การสอนภูมิศาสตร์ประเทศไทย ภูมิศาสตร์ภาค... ภูมิศาสตร์ท้องถิ่น... ซึ่งทำให้นักศึกษาไม่ได้เรียนรู้และรู้จักสภาพท้องถิ่น ไม่สามารถบอกและมองเห็นคุณค่าทางกายภาพ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงนักภูมิศาสตร์ว่าเรียนอะไรกันบ้างและจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรนั้น จึงมีบทสรุปเป็นข้อสังเกตว่า นอกจากนักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่ จำเป็นต้องมีความรู้ทางภูมิศาสตร์ทั้ง 5 กลุ่มที่กล่าวข้างต้นแล้ว นักภูมิศาสตร์ควรเรียนรู้และศึกษาภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยทั้งในระดับ ท้องถิ่นที่เป็นชุมชน อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ และภูมิภาคที่กว้างใหญ่กว่า โดยมุ่งเน้นศึกษาและฝึกปฏิบัติตามแนวคิด ทฤษฎี ที่เป็นอัตลักษณ์ของภูมิศาสตร์ คือ การศึกษาเกี่ยวกับโลกในมิติของพื้นที่และเวลา จากองค์วามรู้และประสบการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด