ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ที่บอกว่าภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของพื้นที่เป็นคำกล่าวที่กล่าวกันง่ายๆ ต่อๆกันมา วันนี้เลยลองหยิบข้อมูลประชากร (หาได้ทั่วไป) มาลองมองในมุมของนักภูมิศาสตร์ โดยตอน 1 กล่าวถึงจำนวนประชากรแต่ละอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ตอน 2 ลองนำเอาข้อมูลจำนวนประชากรและพื้นที่มามองในมุมของความหนาแน่น การกระจายตัวของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ...ซึ่งพบว่ามีอะไรสนุกๆ จากข้อมูลจริงภายใต้มิติของพื้นที่และเวลา

อัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่

จากข้อมูลประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559 มานำมาเปรียบเทียบกับประชากรทั่วประเทศและจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมากในประเทศไทยจะพบว่า

ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลประชากรทั่วประเทศและจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก ปี พ.ศ. 2559

ในภาพรวม อัตราเกิด อัตราตาย และอัตราเพิ่มธรรมชาติของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่จะใกล้เคียงกับข้อมูลของประชากรทั่วประเทศ โดย

-          -  ประชากรทั่วประเทศจะมีการเกิดประมาณ 12 คนต่อ 1,000 คน ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีการเกิดประมาณ 11 คนต่อ 1,000 คน

-          - ประชากรทั่วประเทศจะมีการตายประมาณ 7 คนต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีการตายประมาณ 9 คนต่อประชากร 1,000 คน

-          - ประชากรทั่วประเทศจะมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติเท่ากับร้อยละ 0.34 ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติเท่ากับร้อยละ 0.24

 - การย้ายถิ่นของประชากรในจังหวัดที่มีประชากรมากจะเพิ่มขึ้นและลดลงอยู่ในช่วงประมาณ 2 คนใน 1,000 คน ในขณะที่การย้ายถิ่นจังหวัดเชียงใหม่มีเพิ่มขึ้นสุทธิ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน

- จังหวัดเชียงใหม่อัตราเพิ่มประชากรเท่ากับร้อยละ 1.34 ซึ่งคาดการณ์ว่าหากอัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่เท่ากับร้อยละ 1.34 ไปเรื่อย ๆ จังหวัดเชียงใหม่จะมีประชากรเพิ่มอีกเท่าตัวในอีกประมาณ 52 ปี

ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2550 - 2559

 

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบข้อมูลประชากรจังหวัดเชียงใหม่ในแต่ละปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2559 จะพบว่าตั้งแต่ปี 2553 เรื่อยมาจำนวนประชากรจังหวัดเชียงใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


 

แผนภูมิที่ 1 แสดงจำนวนประชากรจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2559

แผนภูมิที่ 2 แสดงอัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2559

ในขณะที่อัตราการเพิ่มประชากรก็จะลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าอัตราการเพิ่มประชากรมีแนวโน้มที่จะไม่คงที่เท่ากับร้อยละ 1.34 และน่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ

อัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่รายอำเภอ

          เมื่ออัตราเพิ่มประชากรเกิดจากอัตราเพิ่มธรรมชาติ +อัตราการย้ายถิ่นสุทธิ ซึ่งอัตราการเพิ่มธรรมชาติเป็นผลมาจากอัตราการเกิดและอัตราการตาย ซึ่งในระยะ 10 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2559 ประชากรจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการเกิดและอัตราการตายค่อนข้างจะคงที่ ทำให้อัตราการเพิ่มธรรมชาติของประชากรจังหวัดเชียงใหม่จะค่อนข้างคงที่ไปด้วย

 

แผนภูมิที่ 3 แสดงอัตราเกิด อัตราตายและอัตราเพิ่มธรรมชาติของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2559

และเมื่ออัตราการเพิ่มธรรมชาติของประชากรจังหวัดเชียงใหม่จะค่อนข้างคงที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงอัตราเพิ่มประชากรไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเป็นหลัก

แผนภูมิที่ 4 แสดงอัตราการย้ายถิ่นสุทธิ อัตราเพิ่มธรรมชาติ และอัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2559

ในขณะที่ปี พ.ศ. 2559 อัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเท่ากับร้อยละ 1.34 แล้ว หากพิจารณาอัตราเพิ่มประชากรจังหวัดเชียงใหม่รายอำเภอจะพบว่าจะมีทั้งอำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรสูงและต่ำกว่าร้อยละ 1.34 โดย

ตารางที่ 3 แสดงข้อมูลประชากรจังหวัดเชียงใหม่รายอำเภอปี พ.ศ. 2559

ภาพที่ 1 แสดงอัตราเกิดประชากรปี 2559 รายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่

 

 

ภาพที่ 2 แสดงอัตราตายประชากรปี 2559 รายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่

พบว่าในปี พ.ศ. 2559 ประชากรของอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอัตราเกิดสูงกว่าอำเภออื่นอย่างเด่นชัดมี 2 อำเภอ คือของอำเภอแม่ริมและอำเภอเมือง โดยมีอัตราเกิดสูงถึง 31 คนต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่อำเภอแม่ริมมีอัตราตายสูงด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราตายสูงประมาณ 25 คนต่อประชากร 1,000 คน

ภาพที่ 3 แสดงอัตราเพิ่มธรรมชาติประชากรปี 2559 รายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่

อัตราเพิ่มตามธรรมชาติของทุกอำเภอจะแตกต่างกันน้อยมาก โดยพบว่า

- อำเภอที่มีอัตราเพิ่มธรรมชาติน้อยที่สุดคือ อำเภอดอยหล่อมีอัตราเพิ่มธรรมชาติร้อยละ -0.89 ซึ่งหมายความว่าอำเภอดอยหล่อมีอัตราตายมากกว่าอัตราเกิด

            - อำเภอที่มีอัตราเพิ่มธรรมชาติมากที่สุดคือ อำเภอเมืองมีอัตราเพิ่มธรรมชาติร้อยละ 1.84

ภาพที่ 4 แสดงอัตราเพิ่มประชากรปี 2559 รายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่

- มี 20 อำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าร้อยละ 1.34 โดยมีถึง 5 อำเภอที่อัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าร้อยละ 10 คือ อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอหางดงและอำเภอแม่ออน ตามลำดับ โดยอำเภอสันกำแพงจะมีอัตราเพิ่มประชากรสูงสุดถึงร้อยละ 24.56

- มี 4 อำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรต่ำกว่าร้อยละ 0 คือ อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอจอมทองและอำเภอฝางตามลำดับ

เมื่อข้อมูลอัตราเพิ่มธรรมชาติของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2559 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราเพิ่มธรรมชาติค่อนข้างคงที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอัตราเพิ่มประชากรจึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเป็นหลัก และเมื่อพิจารณาอัตราการย้ายถิ่นสุทธิรายอำเภอจะพบว่า

ภาพที่ 5 แสดงอัตราการย้ายถิ่นสุทธิรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559

- เมื่อพิจารณาอัตราการย้ายถิ่นสุทธิรายอำเภอเฉพาะกลุ่มอำเภอที่อัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าร้อยละ 10 จะพบว่าทั้ง 5 อำเภอคือ อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอหางดงและอำเภอแม่ออนมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิสูงด้วยเช่นกัน หมายความว่าทั้ง 5 อำเภอมีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากกว่าการย้ายออก

     - เมื่อพิจารณาอัตราการย้ายถิ่นสุทธิรายอำเภอเฉพาะกลุ่มอำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรต่ำกว่าร้อยละ 0 จะพบว่าทั้ง 4 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอจอมทองและอำเภอฝางมีประชากรย้ายออกจากพื้นที่มากกว่าการย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอเมืองในปี 2559 มีประชากรลดลงสุทธิถึง 27 คนต่อประชากร 1,000 คน

ภาพที่ 6 แสดงความหนาแน่นประชากรรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559

- หากสังเกตข้อมูลกลุ่มอำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าร้อยละ 10 จะพบว่า นอกจากมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดแล้วยังเป็นกลุ่มอำเภอที่มีพื้นที่ที่ติดต่อกันและมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นด้วย

- หากสังเกตข้อมูลกลุ่มอำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรต่ำกว่าร้อยละ 0 แล้ว จะพบว่านอกจากมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิลดลงอย่างเด่นชัดแล้วยังเป็นกลุ่มอำเภอที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นและมี 2 อำเภอคือ อำเภอเมืองและอำเภอแม่ริมที่มีพื้นที่ทีติดต่อกับกลุ่มอำเภอที่มีอัตราเพิ่มประชากรสูงด้วย

 อย่างไรก็ตาม หากต้องการรู้ว่าการย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่หรือการย้ายออกจากในพื้นที่ของประชากรแต่ละอำเภอเป็นการย้ายภายในจังหวัดเชียงใหม่หรือย้ายมาจากจังหวัดอื่น ประเทศอื่น จำนวนเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ที่สำนักบริการการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการบริหารราชการของภาครัฐ โดยเฉพาะการนำมาวางแผนจัดการพื้นที่ สาธารณูปโภค สาธารณูปการโดยเฉพาะการการเตรียมการ การป้องกัน การแก้ปัญหาเมื่อประชากรแต่ละกลุ่มที่มีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมที่ต่างกันอพยพย้ายถิ่นเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา