ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ที่บอกว่าภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของพื้นที่เป็นคำกล่าวที่กล่าวกันง่ายๆ ต่อๆกันมา วันนี้เลยลองหยิบข้อมูลประชากร (หาได้ทั่วไป) มาลองมองในมุมของนักภูมิศาสตร์ โดยตอน 1 กล่าวถึงจำนวนประชากรแต่ละอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ตอน 2 ลองนำเอาข้อมูลจำนวนประชากรและพื้นที่มามองในมุมของความหนาแน่น การกระจายตัวของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ...ซึ่งพบว่ามีอะไรสนุกๆ จากข้อมูลจริงภายใต้มิติของพื้นที่และเวลา

 

 

ตอนที่ 2 มองเชียงใหม่จากการกระจายตัวของประชากร

 

 

จากข้อมูลตัวเลขประชากรที่ได้จาก Web Site ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรถึง 1.73 ล้านคนเศษ มีขนาดของพื้นที่ถึง 20,107.057 ตารางกิโลเมตร หากพิจารณาความหนาแน่นของประชากรรายอำเภอจะพบว่า

อ.เมืองมีประชากรหนาแน่นสูงสุด คือ 1,541 คน/ต.ร.กม. รองลงมาคือ อ.สารภี 450 คน/ต.ร.กม. และ อ.สันป่าตอง 338 คน/ต.ร.กม.

ในขณะที่ย้อนหลังไป 5 ปี คือ ในปี พ.ศ. 2555 อ.เมืองก็มีประชากรหนาแน่นสูงสุด รองลงมายังเป็น อ.สารภีและ อ.สันป่าตอง โดยมีประชากรหนาแน่น 1,135 คน/ต.ร.กม. 435 คน/ต.ร.กม. และ 337 คน/ต.ร.กม. ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของประชากรรายอำเภอระหว่างปี พ.ศ. 2555 กับ ปี พ.ศ. 2559 พบว่า

ในปี พ.ศ. 2559 อำเภอเมืองมีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มจาก ปี พ.ศ. 2555 มากสุดคือ จากเดิม 1135 คน/ต.ร.กม. เพิ่มเป็น 1541 คน/ต.ร.กม. โดยเพิ่มถึง 407 คน/ต.ร.กม. ในขณะที่อำเภออื่น ๆ ที่ความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 26 คน/ต.ร.กม. และพบว่า อำเภอดอยสะเก็ดมีความหนาแน่นของประชากรลดลงจาก ปี พ.ศ. 2555 มากสุด 28 คน/ต.ร.กม. ในขณะที่อำเภออื่น ๆ ที่ความหนาแน่นของประชากรลดลงจะลดลงไม่เกิน 2 คน/ต.ร.กม. หรืออาจจะกล่าวรวม ๆ ได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ปี พ.ศ. 2555 กับปี พ.ศ. 2559 การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนประชากรต่อ 1 ต.ร.กม. ของทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่จะไม่เกิน 30 คนต่อ 1 ต.ร.กม. ยกเว้นอำเภอเมืองเท่านั้นที่ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 407 คนต่อ 1 ต.ร.กม.

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความหนาแน่นของประชากร ปี พ.ศ. 2559 ซึ่ง อำเภอเมืองมีความหนาแน่นของประชากร สูงสุด (ประมาณ 1500 คน/ต.ร.กม.) และมีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีมากที่สุด พบว่ายังคงมีความหนาแน่นของประชากรไม่มาก หากเทียบกับกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงของประเทศแล้วจะมีความหนาแน่นของประชากรเพียงครึ่งหนึ่งของความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร (ประมาณ 3600 คน/ต.ร.กม.) และพบว่าอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่มี ความหนาแน่นของประชากรเทียบเท่ากับความหนาแน่นของประชากรเขตชานเมือง ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตบางขุนเทียน เขตลาดกระบัง เท่านั้น (ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรกรุงเทพมหานคร จากหนังสือ สถิติ 2559 กรุงเทพมหานคร สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการกระจายตัวของประชากรจากข้อมูลความหนาแน่นของประชากรรายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่แล้วพบว่ายังไม่สามารถบ่งชี้อะไรได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อนำข้อมูลประชากร ปี พ.ศ. 2559 รายตำบลมาพิจารณาจะพบว่า

การกระจุกและกระจายตัวของประชากรจะชัดเจน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตอนกลางของจังหวัด และกลุ่มตอนเหนือของจังหวัด

โดยกลุ่มตอนกลางของจังหวัดจะยังคงมีความหนาแน่นของประชากรมากที่ตำบลในอำเภอเมืองและตำบลในอำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี  อำเภอหางดง ซึ่งเป็นตำบลที่ติดกับอำเภอเมือง โดยต่อเนื่องไปถึงตำบลในอำเภอแม่ริมต่ออำเภอสันทรายและอำเภอแม่แตง

สำหรับกลุ่มตอนเหนือของจังหวัดจะมีตำบลที่ความหนาแน่นของประชากรมากกระจายเป็นกลุ่มย่อย ที่ชัดเจนคือตำบลในอำเภอฝางต่ออำเภอแม่อาย

ขณะที่พิจารณาย้อนหลังไป 5 ปี คือ ปี พ.ศ. 2555 จะพบว่าการกระจุกและกระจายตัวของประชากรก็มีลักษณะเดียวกับ ปี พ.ศ. 2559 เช่นกัน โดยจะชัดเจน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตอนกลางของจังหวัด และกลุ่มตอนเหนือของจังหวัด

เพียงแต่ในปี พ.ศ. 2555 อำเภอเวียงแหงยังไม่มีตำบลที่มีประชากรเกิน 100 คนต่อ 1 ต.ร.กม.เหมือนกับปี พ.ศ. 2559

 

เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของประชากรเปรียบเทียบจากปี พ.ศ. 2559 และย้อนหลังไป 5 ปี (พ.ศ. 2555) พบว่าการกระจายตัวและกระจุกตัวของประชากรจังหวัดเชียงใหม่จะมีลักษณะเดียวกัน โดยจะเกิดขึ้นตามแนวถนนและจุดตัดของถนนสายหลักจากอำเภอเมืองไปทางตอนเหนือของจังหวัดโดยจะปรากฏจะชัดเจนบริเวณพื้นที่ราบลุ่มเป็นหลัก ในขณะที่ทางตอนใต้ของจังหวัดซึ่งมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงการกระจายตัวของประชากรจะเป็นแนวตามถนนสายหลักไปถึงแค่อำเภอดอยหล่อและจอมทองเท่านั้น

..........................................................................................................................................................................

เมื่อความหนาแน่นของประชากรอาจจะทำให้เห็นการกระจายตัวและกระจุกตัวของประชากรในแต่ละพื้นที่ สำหรับนักภูมิศาสตร์เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบอื่นในพื้นที่แล้วจะเห็นปรากฏการณ์บางอย่างในพื้นที่ และเมื่อมองประชากรเป็นกลุ่มต่างๆ จะทำให้เห็นภาพของโอกาส อุปสรรค ผลกระทบ การป้องกัน การแก้ปัญหาและอื่นๆชัดขึ้น ทั้งนี้จะกล่าวต่อไปในตอนที่ 3