ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ที่บอกว่าภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของพื้นที่เป็นคำกล่าวที่กล่าวกันง่ายๆ ต่อๆกันมา วันนี้เลยลองหยิบข้อมูลประชากร (หาได้ทั่วไป) มาลองมองในมุมของนักภูมิศาสตร์ โดยตอน 1 กล่าวถึงจำนวนประชากรแต่ละอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ตอน 2 ลองนำเอาข้อมูลจำนวนประชากรและพื้นที่มามองในมุมของความหนาแน่น การกระจายตัวของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ตอน ๓ มองการเพิ่มขึ้น-ลดลงของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ...ซึ่งพบว่ามีอะไรสนุกๆ จากข้อมูลจริงภายใต้มิติของพื้นที่และเวลา

โครงสร้างประชากรจังหวัดเชียงใหม่จำแนกตามอายุ

จากข้อมูลประชากรแยกรายอายุของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559 จำแนกตามช่วงอายุและจัดทำเป็นปิรามิดประชากร (Population pyramid) เพื่อทำให้เห็นจำนวน สัดส่วน ช่วงอายุของประชากรชายและหญิงของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า

ตาราง 1 ช่วงอายุประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

ภาพ 1 ปิรามิดประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

โครงสร้างทางอายุของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวมจากปิรามิดประชากร พบว่าในปี พ.ศ. 2559 โครงสร้างทางอายุของประชากรจังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแบบฐานแคบ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากปิรามิดประชากรจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลังไป 5 ปี (พ.ศ. 2555) และย้อนหลังไป 10 ปี (พ.ศ. 2550) พบว่าโครงสร้างทางอายุก็เป็นแบบฐานแคบเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าโครงสร้างทางอายุของประชากรจังหวัดเชียงใหม่โดยรวมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไม่มาก คือจำนวนคนรุ่นใหม่จะค่อย ๆ น้อยลงกว่าคนรุ่นก่อน

 

 

 

ภาพ 2 ปิรามิดประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2555 และปี พ.ศ. 2550

 

 

ภาพ 3 ภาพซ้อนปิรามิดประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2550 ปี พ.ศ. 2555 และปี พ.ศ. 2559

 

 

เมื่อนำปิรามิดประชากรทั้ง 3 ปีมาซ้อนเปรียบเทียบกันเพื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า

 

1) ประชากรวัยเด็ก

 

ในปี พ.ศ. 2550 ประชากรวัยเด็กทั้งชาย-หญิงช่วงอายุ 10-14 ปีจะมีมากกว่าปี พ.ศ. 2559 อย่างเด่นชัด และจะลดลงมาจนกระทั้งปี พ.ศ. 2555 ประชากรวัยเด็กจะมีจำนวนเท่า ๆ กับ ปี พ.ศ. 2559

 

2) ประชากรวัยแรงงาน

 

ในปี พ.ศ. 2555 และ ปี พ.ศ. 2550 หรือเมื่อ 5 ปี และ 10 ปีย้อนหลังประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 15-19 ปีและช่วงอายุ 40-49 ปีทั้งชาย-หญิงจะมีจำนวนมากกว่าประชากรในปี พ.ศ. 2559 ช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่ปี พ.ศ. 2559 ประชากรช่วงอายุ 55-59 ปีจะมากกว่าจำนวนประชากรในปี พ.ศ. 2555 และ ปี พ.ศ. 2550 อย่างเด่นชัดเช่นกัน    

 

3) ประชากรสูงอายุหรือวัยชรา

 

ในปี พ.ศ. 2559 จำนวนประชากรสูงอายุหรือวัยชราจะเพิ่มขึ้น โดยพบว่าประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ปี พ.ศ. 2555 จนกระทั้งปี พ.ศ. 2559

 

4) สัดส่วนทางเพศ

 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนเพศชาย-หญิงของประชากรจังหวัดเชียงใหม่จากปิรามิดประชากรทั้ง 3 ปี พบว่ามีจำนวนใกล้เคียงกัน หากคำนวณอัตราส่วนทางเพศของประชากรจังหวัดเชียงใหม่แล้วจะพบว่า

 

 

ตาราง 2 อัตราส่วนทางของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2550 ปี พ.ศ. 2555 และปี พ.ศ. 2559

 

 

อัตราส่วนทางเพศของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ปี พ.ศ. 2559 มีสัดส่วนประชากรชาย 95 คน ในขณะที่ประชากรหญิง 100 คน ซึ่งไม่แตกต่างจากปี พ.ศ. 2555 ที่มีสัดส่วนประชากรชาย 96 คน ประชากรหญิง 100 คน เหมือนกับ ปี พ.ศ. 2550 ที่มีสัดส่วนประชากรชาย 96 คน ประชากรหญิง 100 คนเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราส่วนทางเพศของประชากรจังหวัดเชียงใหม่เป็นช่วงอายุในแต่ละวัยแล้วจะพบว่า ในวัยเด็กสัดส่วนประชากรชายจะมากกว่าประชากรหญิง โดยจะมีสัดส่วนประชากรชาย 106 คน ในขณะที่ประชากรหญิง 100 คนทั้งในปี พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2550 ส่วนวัยแรงงานและวัยชราสัดส่วนประชากรชายกลับน้อยกว่าประชากรหญิง โดยจำนวนประชากรชายจะลดลงจากวัยเด็ก มาวัยแรงงานและวัยชราซึ่งจะมีลักษณะนี้ทั้งในปี พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2550

 

ประชากรรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ปี พ.ศ. 2559

เมื่อพิจารณาประชากรเฉพาะในปี พ.ศ. 2559 ตามช่วงวัยเป็นรายอำเภอโดยเปรียบเทียบจำนวนประชากรแต่ละวัยเรียนทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่แล้วจำแนกและแสดงเป็นแผนที่ ปรากฏข้อมูลดังนี้  

1) ประชากรก่อนวัยเรียน (0-5 ปี)

 

ภาพ 4 แผนที่จำนวนประชากรวัยก่อนเรียนรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

อำเภอที่มีประชากรก่อนวัยเรียนจำนวนมากกว่า 5,000 คน มี 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภออมก๋อย และอำเภอฝาง (เรียงลำดับจากมากมาน้อย)

 

2) ประชากรวัยเด็ก (0-15 ปี)

 

 

ภาพ 5 แผนที่จำนวนประชากรวัยเด็กรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

อำเภอที่มีประชากรวัยเด็กจำนวนมากกว่า 10,000 คน มี 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภออมก๋อย อำเภอฝาง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่อาย อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอจอมทอง (เรียงลำดับจากมากมาน้อย) โดยอำเภอเมือง มีประชากรวัยเด็กมากกว่า 20,000 คนเพียงอำเภอเดียว

3) ประชากรวัยเรียน (6-21 ปี)

 

ภาพ 6 แผนที่จำนวนประชากรวัยเรียนรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

อำเภอที่มีประชากรวัยเรียนจำนวนมากกว่า 10,000 คนมีถึง 9 อำเภอ โดยอำเภอพร้าว และอำเภอเมืองมีประชากรวัยเรียนถึง 74,791 คน 35,334 คน ตามลำดับ

4) ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี)

 

ภาพ 7 แผนที่จำนวนประชากรวัยแรงงานรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

พบว่ามี 2 อำเภอที่มีจำนวนประชากรวัยแรงงานสูงกว่าอำเภออื่น คือ อำเภอฝางมีประชากรวัยแรงงานถึง 51,815 คน และอำเภอเมืองมีประชากรวัยแรงงานมากถึง 137,994 คน

5) ประชากรวัยชรา (60 ปีขึ้นไป)

ภาพ 8 แผนที่จำนวนประชากรวัยชรารายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

อำเภอที่มีประชากรวัยชราจำนวนมากกว่า 10,000 คนมี 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฝาง อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอจอมทอง (เรียงลำดับจากมากมาน้อย) โดยอำเภอเมืองมีประชากรวัยชราสูงถึง 41,462 คน

6) ประชากรวัยพึ่งพิง (วัยเด็กรวมกับวัยชรา)

ภาพ 9 แผนที่จำนวนประชากรวัยพึ่งพิงรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

หากประชากรวัยพึงพิง (วัยที่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่อวัยที่เป็นผู้ผลิต) คือประชากรวัยเด็กรวมกับวัยชราแล้ว  จะพบว่ามี 7 อำเภอ คือ อำเภอฝาง อำเภอแม่ริม อำเภออมก๋อย อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่อาย และอำเภอจอมทอง ที่มีจำนวนประชากรวัยพึงพิงอยู่ในช่วง 20,000 – 30,000 คน ซึ่งมากกว่าอำเภออื่นอย่างเด่นชัด และมีอำเภอเมืองที่ประชากรวัยพึงพิงมากที่สุด คือ 69,847 คน

ภาพ 10 แผนที่สัดส่วนประชากรวัยเด็ก วัยชราและวัยพึ่งพิงรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนประชากรวัยพึ่งพิงในอำเภอรอบนอกจะมีประชากรที่เป็นวัยเด็กมากกว่าวัยชรา ในขณะที่อำเภอเมืองและอำเภอที่ติดกับอำเภอเมืองจะมีประชากรวัยพึ่งพิงที่เป็นวัยชรามากกว่าวัยเด็ก

ตาราง 3 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2550 ปี พ.ศ. 2555 และปี พ.ศ. 2559

เมื่อประชากรวัยพึงพิงเป็นคือประชากรวัยเด็ก (อายุ 0 - 15 ปี) รวมกับวัยชรา (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่อวัยที่เป็นผู้ผลิตหรือวัยแรงงาน (อายุ 15 - 59 ปี) แล้ว อัตราส่วนพึงพิงทางอายุของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2559 จะเท่ากับ 51 หมายความว่า มีประชากรในวัยที่ต้องพึ่งพิง 51 คนในทุก ๆ กลุ่มประชากรวัยทำงาน 100 คน ในขณะที่ย้อนไป 5 ปี (พ.ศ. 2555) และ 10 ปี (พ.ศ. 2550) จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรในวัยที่ต้องพึ่งพิง 44 - 45 คนในทุก ๆ กลุ่มประชากรวัยทำงาน 100 คนเท่านั้น และถ้าพิจารณาอัตราส่วนพึงพิงทางอายุของประชากรรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2559 จะปรากฏข้อมูลดังนี้

ภาพ 11 แผนที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559

พบว่าในจังหวัดเชียงใหม่มีเพียง 3 อำเภอ คือ อำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง และอำเภอหางดงที่มีอัตราส่วนพึงพิงทางอายุน้อยกว่า 50 หรือมีประชากรในวัยที่ต้องพึ่งพิงน้อยกว่า 50 คนในทุก ๆ กลุ่มประชากรวัยทำงาน 100 คน และมี 3 อำเภอ คือ อำเภออมก๋อย อำเภอกัลยาณีวัฒนาและอำเภอแม่วาง มีอัตราส่วนพึงพิงทางอายุมากกว่าอำเภออื่น คือ มีประชากรในวัยที่ต้องพึ่งพิง 69 – 65 - 63 คนในทุก ๆ กลุ่มประชากรวัยทำงาน 100 คนตามลำดับ

เมื่อเห็นข้อมูลโครงสร้างประชากรจำแนกตามอายุของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2550 – 2555 – 2559 และข้อมูลประชากรจำแนกตามช่วงวัยรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559 แล้ว สิ่งที่ต้องพิจาณาต่อคือ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคงจะเขียนต่อไปในตอนที่ 5

หมายเหตุ

แหล่งข้อมูลจำนวนประชากรแยกรายอายุจังหวัดเชียงใหม่นำมาจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (www.dopa.go.th) เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่นับรวมผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอีก 6.8% ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง 1.3% และผู้ที่อยู่ระหว่างการย้ายซึ่งมีอยู่ประมาณ 0.2%)