ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

 เมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น กรอบการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว เชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการอิสระ ในวันนั้นได้มีโอกาสได้นำความรู้ในวิชาการด้านภูมิศาสตร์และมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศไปเสนอความเห็นต่อที่ประชุมหลายประเด็น แต่มีข้อคิดเห็นหนึ่งที่คิดว่าจำเป็นต้องนำมาเขียนขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจให้รับรู้ทั่วกัน คือ ข้อมูลการวัดระยะและวัดพื้นที่จากระบบของ Google Earth” ซึ่งมีการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อยอดเพื่อใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth

จะพบว่ามีระบบสารสนเทศหลายระบบที่มี Function การวัดระยะและวัดพื้นที่จากภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth เช่นเดียวกับระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กำลังจะพัฒนาใช้ Function เพื่อวัดระยะเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ทิ้งขยะ รวมทั้งวัดพื้นที่ทิ้งขยะและนำข้อมูลไปประมาณการในการคำนวณการขนถ่ายและกำจัดขยะ สิ่งที่ต้องบอกย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง การวัดระยะและวัดพื้นที่จากข้อมูลจากภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google” เนื่องจากผู้ใช้ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ประกอบไปด้วย หน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นที่เป็น อบต. อบจ. ทั้งหลายล้วนมีความเสี่ยงที่จะนำเอาข้อมูลการคำนวณระยะทางและพื้นที่จากระบบฯ ไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ เช่น นำข้อมูลระยะทางและพื้นที่ไปใช้สำหรับงานการจัดเก็บภาษี จัดเก็บค่าธรรมเนียม จัดสรรงบประมาณการก่อสร้างซ่อมแซม เป็นต้น หากไม่ทราบว่าการคำนวณระยะทางและพื้นที่จากระบบคอมพิวเตอร์มีความถูกต้องในระดับใดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน และการบริการประชาชนโดยตรง

เมื่ออธิบายความคลาดเคลื่อนของการวัดระยะและพื้นที่จากภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth ให้ชัดเจนแล้ว พบว่า ความผิดพลาดทางการวัดระยะและพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักดังนี้

1.      ความละเอียด (Resolution) ของภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth

โดยปกติภาพถ่ายจากดาวทียมของ Google Earth ที่พบว่ามีความละเอียดของภาพ (Resolution) และต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อนำมาใช้ในทางธุรกิจ จะมีความละเอียดของภาพ (Resolution) ถึง 60 เซนติเมตร ซึ่งหมายความว่า 1 pixel จะมีขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ 60 x 60 เซนติเมตร แต่ที่พบและมีการนำมาใช้ทั่วไป(ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการนำมาใช้) จะมีความละเอียดของภาพ (Resolution) เป็นหลักเมตร หรือบางพื้นที่อาจจะมีความละเอียดของภาพ (Resolution) ถึง 15 เมตร หมายความว่า 1 pixel จะมีขนาดกว้าง x ยาว มากกว่า 15 x 15 เมตร แน่นอนว่าเมื่อต้องวัดระยะโดยการลากเส้นไปบนภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มีความละเอียดไม่มาก เช่น ความละเอียด 2 เมตร เมื่อกำหนดจุดเริ่มต้นของการวัดระยะไปที่ตำแหน่ง pixel แรกเราอาจอยู่ที่ตำแหน่ง 0,0 หรือตำแหน่ง 2,2 เมตรของ pixel แรกก็ได้  หมายความว่า ตำแหน่งแรกของการวัดระยะอาจจะคลาดเคลื่อนได้เกือบ 2 เมตร เช่นเดียวกับทุกๆตำแหน่งที่ลากเส้นผ่านแต่ละ Pixel ไปจนถึงตำแหน่งสุดท้าย เราอาจจะได้ระยะทางคลาดเคลื่อนไปจากระยะจริงมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตเมืองที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth จะมีความละเอียดของภาพ (Resolution) หลายเมตร ข้อมูลที่ได้จากการวัดระยะและพื้นที่จะคลาดเคลื่อนมากมาย

 

 ๒.      ความเอียงของกล้องถ่ายภาพ

เมื่อกล้องถ่ายภาพมีความเอียง ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ได้จะมีความเอียงด้วย หากถ่ายพื้นผิวโลกเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้ว ภาพที่ได้จากกล้องที่เอียงพื้นที่เดียวกันจะกลายเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมู ดังนั้นการวัดระยะทางและพื้นที่ก็จะคลาดเคลื่อนไปด้วย

 

 

๓.      ความลาดเอียงของภูมิประเทศ

หากมีการวัดพื้นที่ที่บนภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ถ่ายภูมิประเทศที่ต่างกัน คือ ภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกับภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ที่มีความลาดเอียง โดยมีการวัดบนภาพถ่ายด้วยระยะทางหรือขนาดพื้นที่ที่เท่ากัน ข้อเท็จจริงจะพบว่า ระยะทางและขนาดพื้นที่ที่ถูกต้องบนภูมิประเทศที่มีความลาดเอียงจะมากกว่าภูมิประเทศที่เป็นที่ราบ

 

 

๔.      ความคลาดเคลื่อนจากมนุษย์

การวัดระยะทางหรือพื้นที่ด้วยโปรแกรมในระบบสารสนเทศนั้นจะมีข้อจำกัดที่การขยายภาพบนจอภาพและการกำหนดจุดต่างๆ ของการวัด ซึ่งแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน ดังนั้นความคลาดเคลื่อนมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อสงสัยในความแม่นยำจึงทดลองวัดระยะทางในพื้นที่จริงเทียบกับการวัดด้วยเครื่องมือจากโปรแกรมและข้อมูลของ Google Earth บริเวณพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า เมื่อนำเทปวัดระยะไปวัดระยะเส้นทางหนึ่งซึ่งวัดได้ระยะได้ประมาณ 48 เมตร

 

การวัดระยะที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google Earth ซ้ำๆ กันโดยพยายามขยายภาพให้ชัดเจนหลายๆครั้ง หลายๆ มุม ซึ่งระยะที่วัดได้จะแตกต่างกันไป เช่น 47.52 เมตร 47.45 เมตร 47.02 เมตร 46.74 เมตร และ 45.33 เมตร เป็นต้น

 

ข้อสังเกตที่ต้องตระหนัก คือ เมื่อต้องพัฒนาระบบสารสนเทศซึ่งจะต้องมีนักวิชาการคอมพิวเตอร์และนักวิชาการเฉพาะด้านสารสนเทศนั้นๆแล้ว หากต้องพัฒนาและใช้ Function งานเชิงพื้นที่หรืองานด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ควรต้องมีนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ที่เข้าใจข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยเสมอ และหากพิจารณาว่าเครื่องมือที่ใช้วัดระยะและพื้นที่จากภาพถ่ายจากดาวเทียม Google Earth เป็นเครื่องมือที่สะดวกและหาได้ง่ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ต้องเข้าใจและมีความรู้เรื่อง ที่มาของภาพถ่ายจากดาวเทียม Google Earth และผลกระทบของข้อมูลที่ได้จากการวัดระยะและพื้นที่เมื่อนำไปใช้งาน

 

หมายเหตุ ประเด็น การวัดระยะและวัดพื้นที่จากข้อมูลจากภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Google” ในระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ผู้จัดการประชุมพิจารณาว่าจะเขียนข้อความอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจไว้ในระบบฯ

ขอขอบคุณภาพจาก Google Earth