สาระภูมิศาสตร์

ไฟ ภัยพิบัติที่น่ากลัว

สำรับมนุษย์แล้ว ไฟเป็นทั้งเพื่อนและศัตรู ทาสและเจ้านาย  ไฟเป็นพลังธรรมชาติ ซึ่งได้ถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์

ข้อมูล แนวคิดและพลังการช่วยเหลือเด็ก ๆ

 วันที่ 28 มิถุนายน 2561 :

 

วันที่ 28 มิถุนายน 2561 นักภูมิศาสตร์นำทีมโดยอนุกูลฯ ได้เดินทางเข้าถึงพื้นที่เพื่อร่วมภารกิจช่วยเหลือเด็ก ๆ พร้อมกับสร้างเฟซบุ๊ก “Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai” สำหรับเป็นแกนกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนการค้นหาเด็กๆ  

รายงานข่าวจากสำนักต่าง ๆ รายงานว่าสถานการณ์การสูบน้ำในวันนี้ไม่ทำให้น้ำลดลง จึงมีการตัดสินใจหยุดการสูบน้ำเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องกว่า 5 ชั่วโมง น้ำในถ้ำล้นออกมาถึงปากถ้ำต้องย้ายกองอำนวยการออกมานอกถ้ำ

 นักภูมิศาสตร์ในพื้นที่ส่วนหนึ่งพยายามหาตำแหน่งในพื้นที่ที่น้ำซึมลงใต้ดิน โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai ขอข้อมูลแนวแตกเหนือลอยเลื่อนในพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่นักภูมิศาสตร์ส่วนหนึ่งเริ่มนำภาพถ่ายจากดาวเทียมมาวิเคราะห์หาตำแหน่งหลุมยุบเหนือถ้ำหลวง และบางส่วนนำข้อมูล DEM มาสร้างแบบจำลองหาพื้นที่รับน้ำภายในถ้ำหลวงฯ พร้อมคาดการณ์ตำแหน่งที่จะพบเด็ก ๆ

         

นักภูมิศาสตร์สร้างเฟซบุ๊ก “Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai” เป็นแกนกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับภารกิจค้นหาเด็ก ๆ พร้อมโพสต์ขอข้อมูลแนวแตกของหินเหนือลอยเลื่อนในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการค้นหาตำแหน่งที่น้ำจะซึมลงใต้ดิน ซึ่งอาจจะเป็นรอยแตกของหินหรือหลุมยุบที่เกิดขึ้นบนภูเขา (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

         

นักภูมิศาสตร์พยายามสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์หาตำแหน่งหลุมยุบเหนือถ้ำหลวงจากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูล Digital Surface Model (DSM) 1 เมตร (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai)

       

ข้อมูล DEM ถูกนำมาสร้างแบบจำลองหาพื้นที่รับน้ำภายในถ้ำหลวงฯ แล้วนำมาซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศและแผนที่โครงข่ายถ้ำหลวงฯ เพื่อคาดการณ์พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังภายในถ้ำและจุดที่คาดว่าเด็ก ๆ จะไปหลบพักอยู่ (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai)

สำหรับแนวคิดทางภูมิศาสตร์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมชาติซึ่งช่วยทำให้น้ำในถ้ำลดลงถูกเสนอผ่านเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni โดย ผศ.ดร. พรรณี วราอัศวปติ อดีตอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ มช. ได้เสนอวิธีการพื้นฐาน คือ การเบี่ยงน้ำเพื่อไม่ให้ไหลเข้าไปเพิ่มปริมาณน้ำในถ้ำ ซึ่งภายหลังได้นำมาเป็นภารกิจหนึ่งในการใช้ลดปริมาณน้ำในถ้ำหลวง

         

เนื่องจากน้ำในถ้ำหลวงเพิ่มปริมาณตลอด อดีตอาจารย์ภูมิศาสตร์จึงเสนอวิธีการเบี่ยงน้ำที่ไหลจากบนภูเขาเข้าไปตามรอยแตกของหินและหลุมยุบไม่ให้ไหลเข้าไปเพิ่มปริมาณน้ำในถ้ำหลวงฯ (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

         

ผศ. น้อม งามนิสัย อดีตอาจารย์ภูมิศาสตร์เป็นนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่สื่อมวลชนหลายสาขาได้ติดตามสอบถามข้อคิดเห็น แนวคิด วิธีการของนักภูมิศาสตร์ที่จะนำความรู้มาประยุกต์ช่วยค้นหาและนำเด็ก ๆออกจากถ้ำหลวงฯ ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายลักษณะทางกายภาพของภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ถ้ำหินปูน ลักษณะภายในถ้ำ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นต่อการระบายน้ำออกจากถ้ำ การขุดเจาะถ้ำทั้งด้านข้างและด้านบนของดอยนางนอน สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ความเสี่ยงต่อการถล่มของถ้ำหินปูน และอื่น ๆ  (ที่มา : ภาพต้นแบบจาก www.komchadluek.net www.nationtv.tv และ www.amarintv.com )

วันที่ 29 มิถุนายน 2561 :

วันที่ 29 มิถุนายน 2561 ปริมาณน้ำในถ้ำยังคงสูง นักภูมิศาสตร์มีความพยายามใช้ข้อมูลค้นหาโพรงที่จะทะลุเข้าถ้ำโดยนำข้อมูลแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 มาซ้อนกับข้อมูลแผนที่ถ้ำหาเส้นทางเข้าถ้ำด้านเหนือดอยผาหมีและด้านตะวันตกใกล้บริเวณหาดพัทยา ในเวลาเดียวกันที่นักภูมิศาสตร์ที่อยู่นอกพื้นที่พยายามวิเคราะห์หาตำแหน่งหลุบยุบจากเส้นทางน้ำไหลและความลาดชันเพื่อชี้เป้าทางเข้าสู่ถ้ำจากด้านบน

          ในวันนี้กองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิกหรือ USPACOM ที่ถูกส่งมาช่วยค้นหาและกู้ภัย ได้เดินทางมาถึงถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อมาถึงกองกำลังสหรัฐอเมริกาฯ ทราบว่านักภูมิศาสตร์ในพื้นที่มีข้อมูลทางพื้นที่ที่น่าสนใจจึงขอให้นักภูมิศาสตร์บรรยายสถานการณ์และข้อมูลที่มีให้ฟัง

          

 เมื่อกองกำลังจากสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิกหรือ USPACOM ที่ถูกส่งมาช่วยค้นหาและกู้ภัยมาถึงพื้นที่แล้ว พบว่าข้อมูลที่นักภูมิศาสตร์รวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลสำคัญจึงขอให้นักภูมิศาสตร์อธิบายสถานการณ์และข้อมูลที่รวบรวมไว้ให้ฟัง เพื่อเป็นข้อมูลช่วยสนับสนุนในการช่วยค้นหาเด็ก ๆ (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai)

         

การเข้าสู่ถ้ำหลวงผ่านโพรงด้านบนภูเขาเป็นแนวทางค้นหาเด็ก ๆ อีกทางหนึ่ง นักภูมิศาสตร์จึงนำข้อมูลที่มีมาผสมผสานสร้างเป็นแผนที่ตำแหน่งที่คาดว่าจะเป็นหลุบยุบซึ่งอาจจะเป็นโพรงเข้าสู่ถ้ำจากด้านบน นอกจากนี้ยังนำค่า DEM จากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาคำนวณค่าความลึกของหลุมยุบอีกด้วย (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai)

สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่นำโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สำรวจพบโพรง 2 จุดบนภูเขาและได้หย่อนตัวลงไปในโพรงได้ลึกถึง 60 เมตร แต่ก็ยังเป็นโพรงที่ไม่ได้ทะลุถึงถ้ำหลวง ทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงถ้ำหลวงได้จากด้านบน

          

 ในการสำรวจโพรงบนภูเขาพบว่ามีโพรงอยู่ 2 จุด ซึ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาช่วยค้นหาเด็ก ๆ ไปเข้าไปสำรวจแต่พบว่าไม่สามารถทะลุเข้าไปถึงถ้ำหลวงได้ (ที่มา: ภาพต้นแบบจาก www.komchadluek.net และ TV New18 )

อย่างไรก็ตาม สำหรับขวัญและกำลังใจแล้ว ในด้านจิตใจ ความเชื่อ ความศรัทธา วันนี้ครูบาชุ่ม พระเกจิดังจากรัฐฉานได้เดินทางมาถึงปากถ้ำและทำพิธีเปิดทางช่วยเด็ก ๆ ทำให้ขวัญและกำลังใจของผู้ปกครอง ญาติมิตรผู้ใกล้ชิดเด็ก ๆ ตลอดจนคณะทำงานที่ช่วยและสนับสนุนการค้นหาเด็กต่างมีพลังและความหวังที่จะได้พบเด็ก ๆ อีกครั้ง

         

ครูบาชุ่ม พระเกจิดังจากรัฐฉานเดินทางมาถึงปากถ้ำและทำพิธีเปิดทางช่วยเด็ก ๆ (ที่มา: ภาพต้นแบบจาก www.komchadluek.net)

สำหรับผมแล้ว ในวันนี้ได้เสนอความคิดผ่านเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni โดยกล่าวถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ว่าเส้นทางน้ำใต้ดินในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะเชื่อมโยงถึงกันหมด ดังนั้นการน้ำสูบออกจากปากถ้ำและการขุดเจาะเพื่อสูบน้ำใต้ดินออกหลาย ๆ จุดจะช่วยลดปริมาณน้ำในถ้ำได้เร็วขึ้น (หลักการทางภูมิศาสตร์นี้ถูกนำมาเป็นภารกิจเพื่อลดปริมาณน้ำในถ้ำด้วยเช่นกัน)

         

หลักการ เส้นทางน้ำใต้ดินในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะเชื่อมโยงถึงกันหมด สามารถนำไปใช้กำหนดตำแหน่งเจาะสูบน้ำรอบ ๆ บริเวณถ้ำหลวงเพื่อลดปริมาณน้ำด้านในถ้ำได้ (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

 

          อ่านตอน 1

          อ่านตอน 2

          อ่านตอน 4

          อ่านตอน 5

 

  •  ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 5 ถึง 12 องศาเหนือ และลองจิจูด 97 ถึง 106 องศาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 513115 ตารางกิโลเมตร

    อ่านเพิ่มเติม...
  • ปัจจัยที่ทําให้เกิดภัยพิบัติดินถล่ม ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา ลักษณะการใช้ที่ดิน และลักษณะสภาพภูมิอากาศ

    The factors that cause landslide disasters are topographical features, geological and soil characteristics, land use characteristics, and climate characteristics.

    อ่านเพิ่มเติม...
JSN Epic is designed by JoomlaShine.com