IoT (Internet Of Thing), Big Data, Data Analytic และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นแค่แนวคิดและเทคโนโลยี บางครั้งเป็นความลับ บางครั้งสามารถค้นหา เรียนรู้ได้อย่างเปิดเผย
เมื่อขบวนการทำงานของ GPS ถูกประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลแผนที่และข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมทำให้เรารู้ตำแหน่งมือถือบนแผนที่และภาพถ่ายจากดาวเทียม ทำให้เรามีโปรแกรมบอกเส้นทางรถเพื่อนำทางและบอกสภาพการจราจรเราได้ และในอนาคตคงทำให้เรารู้อะไรอีกมากมาย
การทำงานของเทคโนโลยีบางครั้งเป็นความลับ บางครั้งสามารถค้นหา เรียนรู้ได้อย่างเปิดเผย หากเรารู้และเข้าใจหลักการทำงานของเทคโนโลยีบ้าง เราในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี ก็จะเป็นผู้ที่อยู่กับเทคโนโลยีอย่างที่รู้เท่าทัน อาจจะพัฒนาตัวเองเป็นผู้ปรับปรุง แก้ไข หรือผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆในอนาตค
ผู้ที่สนใจเทคโนโลยี คงเคยได้รับรู้เรื่อง IoT (Internet Of Thing), Big Data, Data Analytic และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กันมาบ้าง สำหรับบทความนี้อยากบอกเล่าเรื่องราวตามภาษานักภูมิศาสตร์ (ที่รู้แบบเป็ดและพยายามคุยเรื่องยาก ๆ ให้เห็นภาพเพื่อจะได้เข้าใจง่าย ๆ) ต่อไปนี้
ภาค1… IoT (Internet Of Thing) :
อุปกรณ์ที่มีหน่วยความจำสำหรับจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล อุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อ Internet แต่เดิมเราพบว่ามีแต่คอมพิวเตอร์เท่านั้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ต่อมาเราพบว่า “มือถือ” ก็มีคุณสมบัติดังกล่าวเราจึงเข้าใจได้ว่า “มือถือ” ก็เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะในภายหลังเราสามารถเขียนโปรแกรมให้มือถือสามารถทำงานและแสดงผลต่าง ๆ ได้
ปัจจุบันเมื่อเราไม่อยู่บ้าน เราติดกล้อง CCTV ไว้รอบบ้านและดูความเคลื่อนไหวผ่านกล้อง CCTV แต่ละตัวหรือหลาย ๆ ตัวผ่านมือถือได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการที่เราไม่อยู่บ้านหรือกลับบ้านดึกมาก ๆ เราก็สามารถใช้มือถือสั่งให้หลอดไฟหน้าบ้าน หลอดไฟห้องรับแขกเปิดให้แสงสว่างไว้ได้
สำหรับในอนาคตอีกไม่นานเหตุการณ์เช่นนี้อาจจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยชีวิตประจำวันอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับหลาย ๆ คน เช่น
.....หลังเลิกงานระหว่างเดินทางกลับบ้าน …..เปิดมือถือใช้โปรแกรมสั่งอุปกรณ์เครื่องมือที่บ้านใช้ทำงานรอก่อนกลับมาถึงบ้าน เช่น สั่งกาต้มน้ำให้ต้มน้ำเตรียมชงเครื่องดื่ม …..สั่งอ่างอาบน้ำให้เปิดน้ำให้ปริมาณพอดีเพื่อกลับถึงบ้านก็พร้อมที่จะอาบน้ำได้ทันที ฯลฯ ในระหว่างเดินทางเมื่อเห็นป้ายโฆษณาอาหารที่น่าสนใจก็ใช้โปรแกรมถ่ายภาพรายการอาหารจากป้ายโฆษณาอาหารแล้วรอรับอาหารเมื่อกลับถึงบ้านพอดี …..
สิ่งที่บอกเล่าคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการความสะดวกสบาย ซึ่งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีต้องการตรงกัน การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือให้มีหน่วยความจำและต่อเชื่อมระบบ Internet ได้ จึงเป็นระบบหลักที่เป็นกลไกลการนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้งานตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์นิยามและเรียกมันว่า IoT (Internet Of Thing) ซึ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ IoT มี 3 ส่วนหลัก คือ
1. อุปกรณ์เครื่องใช้ที่มี IP Address (เลขรหัสเฉพาะประจำเครื่องที่ต่อเชื่อมบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์) สำหรับเชื่อมต่อกับระบบ Internet ซึ่งมีหน่วยความจำที่ถูกเขียนโปรแกรมฝั่งไว้ โดยโปรแกรมจะสามารถบังคับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้นั้น ๆ ผ่านระบบ Internet ได้
2. โปรแกรมประยุกต์ที่ทำงานผ่านระบบ Internet ตามขบวนงานที่กำหนด
3. อุปกรณ์ที่เป็นคอมพิวเตอร์สำหรับจัดเก็บข้อมูลและ/หรือโปรแกรมควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มี IP Address
ภาพที่ 1
จากภาพที่ 1 อุปกรณ์เครื่องใช้ที่มี IP Address จะมีทั้งที่อยู่ในอาคารทั้งที่ต่อเชื่อมเป็นระบบเครือข่าย และเป็นอุปกรณ์เดี่ยว ๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ติดตั้งอยู่ในอาคารเท่านั้น) ซึ่งต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ที่เป็นคอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ ซึ่งทำงานผ่านระบบ Internet
หากจะอธิบายการรายละเอียดการทำงานของระบบต่าง ๆ ในกรณี.....หลังเลิกงานระหว่างเดินทางกลับบ้าน.....เราใช้มือถือสั่งงานต่าง ๆ สามารถอธิบายได้ดังนี้
- กรณี....ใช้มือถือสั่งให้หลอดไฟหน้าบ้าน หลอดไฟห้องรับแขกเปิดให้แสงสว่าง :
เมื่อเปิดมือถือใช้โปรแกรมควบคุมระบบไฟส่องสว่างของบ้าน ระบบที่มือถือจะต่อเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของหลอดไฟฟ้า หลังจากนั้นโปรแกรมจะมี Functions การสั่งการหลอดไฟแต่ละดวงผ่านอุปกรณ์ควบคุม โดยอาจจะสามารถสั่งให้เปิด-ปิด ปรับความมืด- สว่าง ฯลฯ
- กรณี....ใช้โปรแกรมสั่งกาต้มน้ำให้ต้มน้ำ
เมื่อเปิดโปรแกรมและสั่งกาต้มน้ำให้ต้มน้ำ โปรแกรมที่มือถือจะส่งข้อมูลผ่านระบบ Internet ไปที่กาต้มน้ำที่มี IP Address ที่โปรแกรมระบุ ที่กาต้มน้ำจะทำการเปิดระบบไฟฟ้าให้เข้ามาควบคุมการทำงาน และจะเปิดวาล์วให้น้ำไหลเข้ามาในกาต้มน้ำในปริมาณที่ต้องการ (โปรแกรมสามารถกำหนดได้) และระบบควบคุมความร้อนก็เริ่มทำงาน ซึ่งโปรแกรมสามารถสั่งการให้ต้มน้ำให้น้ำเดือดที่อุณหภูมิที่กำหนดได้
หากลืมปิดการทำงานของกาต้มน้ำ ระบบสามารถตัดการทำงานได้อัตโนมัติ หรือสามารถสั่งปิดการทำงานผ่านมือถือได้
- กรณี....ใช้โปรแกรมสั่งอ่างอาบน้ำให้เปิดน้ำให้ปริมาณพอดีก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ ใช้โปรแกรมสั่งกาต้มน้ำให้ต้มน้ำเช่นกัน
สำหรับกรณีการใช้โปรแกรมสั่งกาต้มน้ำ หรือใช้โปรแกรมสั่งอ่างอาบน้ำให้เปิดน้ำ ในอนาคตจะถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของระบบ IoT ซึ่งจะสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าในการนำมาประยุกต์ต่อยอดใช้ประโยชน์
- กรณี....เปิดมือถือใช้โปรแกรมถ่ายภาพรายการอาหารจากป้ายโฆษณาอาหาร :
จากภาพที่ 2 เมื่อเปิดมือถือถ่ายภาพรายการอาหารจากป้ายโฆษณาอาหาร (1) ข้อมูลรายการอาหารซึ่งประกอบด้วยรูปภาพและรหัสรายการอาหาร (อาจจะเป็นคิวอาร์โค้ดหรืออะไรที่ทันสมัยกว่าก็ได้) จะถูกส่งไปยัง Servers ส่วนกลางเพื่อประมวลผล(2) แล้วส่งไปยังคอมพิวเตอร์(3) ที่ร้านอาหารที่มีที่ตั้งใกล้บ้าน (ระบบรู้จักบ้านได้เพราะการลงทะเบียนมือถือไว้กับค่ายมือถือซึ่งต่อไปจะระบุ Location ของเจ้าของมือถือคู่กับ Address โดยหลังถ่ายภาพรายการอาหารฯ ระบบโปรแกรมฯอาจจะถาม-ตอบรายการอื่น ๆ เช่น เวลาส่ง จำนวนชิ้น รสชาติ ฯลฯ) เมื่อร้านอาหารรับรายการก็จะจัดการตรวจสอบระบบการจ่ายเงิน (4) โดยจะหักเงินจากบัญชีรายรับหรือเครดิตของผู้สั่งซื้อซึ่งเชื่อมระหว่างธนาคารกับร้านค้า หากระบบตรวจสอบผ่าน จึงจะมีการส่งสินค้ามาให้ที่บ้านซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาที่ผู้ซื้อระบุไว้ (5)
ภาพที่ 2
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ Location แล้ว อาจจะเห็นความหลากหลายในการประยุกต์และใช้งาน IoT เช่น
ช่วงหนึ่งเคยขับรถ Honda และพบว่าทุกครั้งที่สตาร์ทรถ จะสังเกตเห็นที่หน้าปัดรถแสดงตัวเลขอุณหภูมิภายนอกรถ ไปพร้อม ๆ กับจอภาพแสดงแผนที่และตำแหน่งของรถ หากนำเอาข้อมูลดังกล่าวของรถทุก ๆ คันเชื่อมเข้าระบบ Internet และส่งข้อมูลเข้า Servers ของ Honda ที่มีข้อมูลลูกค้าบางส่วนแล้ว Honda ก็จะมีข้อมูลตำแหน่งรถ อุณหภูมิภายนอกรถขณะนั้น และข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ (ข้อมูลบางรายการยังสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ด้วย) ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่การนำไปประยุกต์ใช้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศแบบ Real Time หรือการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ได้ ทั้งนี้การนำไปต่อยอดวางแผนการตลาดของสินค้าที่เกี่ยวกับอุณหภูมิ เช่น อุปกรณ์ทำความเย็น-ร้อน อุปกรณ์ถนอมอาหาร อาหาร อุปกรณ์นุ่งห่ม หรืออุปกรณ์ด้านสุขภาพ ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและอาจจะเกิดอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก (ดูโครงสร้างการทำงานได้จากภาพที่ 3)
ภาพที่ 3
อนึ่ง ตามที่กล่าวว่าระบบ IoT ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือมีหน่วยความจำและต่อเชื่อมระบบ Internet หากนำคุณสมบัตินี้มาพัฒนาใช้งานโดยเขียนโปรแกรมให้หน่วยความจำสามารถประมวลผลจัดเก็บและส่งข้อมูลไปใช้งานได้ ระบบอุปกรณ์อัจฉริยะจะเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่นตัวอย่างจากข่าวสารต่อไปนี้....
Acer จับมือ Intel โชว์นวัตกรรมแห่งอนาคตผ้าอ้อมเด็กอัจฉริยะ
http://www.acerspace.com/acer-diaperpie-computex-2015/
ภาค2… Big Data :
เคยสงสัยหรือไม่ว่า บางครั้งขณะเราผ่านห่างสรรพสินค้า เมื่อเปิดมือถือเพื่อใช้งาน เราจะพบข้อความโฆษณาเป็น Pop Up ขึ้นมา บางครั้งโฆษณา “รองเท้ายี่ห้อดังที่เราสนใจจะซื้อ ซึ่งเราเพิ่งค้นข้อมูลเมื่อวานนี้เพื่อดูราคาและร้านค้าที่จัดโปรโมชั่นลดราคา” หรือมีข้อความเป็น Pop Up บอกว่า “ที่พักเชียงใหม่ ราคาถูก ห่างประตูท่าแพ 300 เมตร” โดยที่เราเพิ่งค้นข้อมูลที่พักในเมืองเชียงใหม่เพื่อวางแผนไปพักผ่อน
สิ่งที่น่าสงสัยคือ “ใคร รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังสนใจเรื่องเหล่านั้นอยู่”
ชัดเจนว่าเมื่อเราขยับใช้มือถือเมื่อใด ข้อมูลที่ค้นหา หรือใช้งานจะถูกส่งมาที่มือถือ ในขณะเดียวกันที่ข้อมูลที่มือถือก็ถูกส่งไปให้ Servers ต่าง ๆ มากมาย ทั้งข้อมูลตัวอักษรที่เราพิมพ์ ข้อมูลภาพที่เราถ่ายหรือภาพที่เราเก็บไว้ ข้อมูลเสียงที่เราพูดคุยสนทนาหรือบันทึกไว้ ข้อมูลการเข้าใช้โปรแกรม เข้าใช้เว็บไซด์ต่าง ๆ แม้กระทั้งข้อมูลการขยับนิ้วกดหรือสไลด์ไปบนหน้าจอหรือการกดเม้าแต่ละครั้งก็อาจจะถูกบันทึกและส่งไปยัง Servers ใดๆ บนโลกไซด์เบอร์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จากทุก ๆ คนจะถูกส่งกระจายไปยัง Servers ต่าง ๆ (ตามเงื่อนไขการลงทะเบียนหรือการใช้ข้อมูลหรือโปรแกรมหรือเกมส์ที่เราเข้าไปใช้) ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้เราเรียกว่า “Big Data” ในด้านธุรกิจการได้ข้อมูลลูกค้าที่มีความต้องการสินค้าและบริการที่ชัดเจนก็เป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสูงมาก ในด้านความมั่นคง ด้านการเมือง และด้านอื่น ๆ ก็เช่นกัน ข้อมูลของเราทั้งหลายที่อยู่ใน Servers ต่าง ๆ จึงถูกบันทึก ถูกขายและแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา (ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ข่าว เฟซบุ๊กอึ้ง ถูกดูดข้อมูลไปใช้ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี)
https://m.mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000027244
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม เราพบข้อความเป็น Pop Up โฆษณา “รองเท้ายี่ห้อดังที่เราสนใจจะซื้อ” หรือมีข้อความบอก “ที่พักเชียงใหม่ ราคาถูก ห่างประตูท่าแพ 300 เมตร”
ในทำนองเดียวกัน เมื่อการเคลื่อนที่ของ GPS บนมือถือหรือบนรถประเภทต่าง ๆ ก็เกิดข้อมูล Location ที่ถูกบันทึกเช่นกัน หากอุปกรณ์ เครื่องมือที่เป็นระบบ IoT ติดตั้งระบบบอกตำแหน่ง แน่นอนว่าข้อมูลที่เป็น Big Data ส่วนหนึ่งคือตำแหน่งซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมาย
ภาค3… Data Analytic :
เมื่อ IoT เป็นการประยุกต์ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ผ่านระบบเครือข่าย Big Data เป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลที่หลากหลายรูปแบบและมาจากหลายแหล่งที่มา การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบเครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อประโยชน์ด้านความสะดวกสบาย ความบันเทิงและความสงบจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามทำ โดยเบื้องต้นมีการนำแนวคิด วิธีการและทฤษฎีพื้นฐานมาใช้ (โดยเฉพาะสถิติพื้นฐานที่เราเรียกว่า Descriptive Statistic) จึงเป็นแนวคิดวิธีการที่เรียกว่า Data Analytic ซึ่งต้องการผู้มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาใช้คัดเลือก จำแนกแยกแยะ จัดกลุ่ม ใช้งานหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลและหลากหลายรูปแบบให้เกิดประโยชน์และมูลค่า โดยเฉพาะทางธุรกิจ จึงเกิดแนวคิดที่เรียกกันอย่างโก้หรูหลากหลาย เช่น Smart City, Smart Farming, Smart Home และอื่น ๆ
ภาพที่ 4
จากภาพที่ 4 จะแสดงการทำงานของขบวนการทำงานเมื่อเราผ่านห่างสรรพสินค้าและเปิดมือถือแล้วพบข้อความโฆษณาเป็น Pop Up ขึ้นมา ซึ่งจะอธิบายการเกิดและใช้งาน Big Data และ Data Analytic ตั้งแต่การมีข้อมูลมหาศาล (Big Data) จากการนำข้อมูลสินค้าไปเก็บไว้ก่อนแล้ว (1) และการค้นหาข้อมูลสินค้าที่สนใจผ่านมือถือ (2) ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปรวบรวมและวิเคราะห์ ประมวลผลใน Servers ตลอดเวลา (3) และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้สนใจสินค้าผ่านมาที่ห้างสรรพสินค้า (4) ซึ่งมีสินค้าที่เคยถูกค้นหาผ่านโปรแกรมบนมือถือ ระบบ Data Analytics จะแสดงผลชักชวนการซื้อสินค้าเป็น Pop Up โฆษณาสินค้าบนมือถือของผู้ที่เคยค้นหาข้อมูลสินค้านั้น ๆ
สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้ว ทั้ง IoT, Big Data, Data Analytic ล้วนเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งต้องการผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญ มากำหนดแนวคิดวิธีการ ขั้นตอนการพัฒนาใช้ประโยชน์ หรือที่นักเทคโนโลยีต้องการนำมาพัฒนาเขียนเป็นโปรแกรม หรือที่นักคอมพิวเตอร์มักจะเรียกว่า “Algorithm” ซึ่ง “ภูมิศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ มนุษย์ พื้นที่และเวลา ที่นักเทคโนโลยีต้องการแนวคิดที่เป็น “Algorithm” เพื่อพัฒนาใช้ประโยชน์ (เคยกล่าวไว้ในแนวคิดของนักภูมิศาสตร์สมัยใหม่)
http://www.geo2gis.com/index.php/2016-01-29-05-55-21/2016-02-10-05-57-33/332-geographer5
ภาค4… AI (Artificial Intelligence) :
นอกจาก IoT, Big Data, Data Analytic จะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างมากมายแล้ว ปัจจุบัน AI เข้ามาสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนมากมาย (เหมือนกับยุคหนึ่งที่ GIS เริ่มเป็นที่รู้จักจนผู้ใหญ่และนักวิชาการในบ้านเมืองต่างยกย่องว่าอยากรู้อะไรอยู่ที่ไหนก็ถามระบบ GIS จะรู้หมด แล้ววันนี้เป็นอย่างไรล่ะครับ)
เขาบอกว่า AI มีหลักการพัฒนาและทำงานคือ “มนุษย์สร้าง AI ให้คิดและกระทำอย่างมีเหตุผลเหมือนมนุษย์” โดย AI จะเป็นเทคโนโลยีที่ฉลาดสามารถเรียนรู้ได้ด้วยข้อมูลที่ถูกใส่ให้และข้อมูลที่ AI สัมผัส โดย AI จะเรียนรู้และคิดได้ด้วยตัวมันเอง ดังนั้นผู้พัฒนา AI จึงพยายามทำให้ AI มี “Algorithm” ที่เข้าใจในเรื่องที่มนุษย์เป็น คือ
- AI ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจว่ามนุษย์มีขบวนการคิดอย่างไรทั้งการตัดสินใจ การแก้ปัญหา โดยใช้สติปัญญา
- AI ต้องมีเหตุผลและคิดตามหลัก ตรรกะศาสตร์
- AI ต้องสื่อสารได้จากการสัมผัสและเคลื่อนไหว
ปัจจุบันตัวอย่างการพัฒนา AI ให้ใกล้เคียงมนุษย์ ได้แก่การพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถพูดคุยตอบโต้กับคนได้อย่างชาญฉลาด
https://www.youtube.com/watch?v=VdtMxZ4Ke-k
https://www.youtube.com/watch?v=LVQHDnC37Ic
หรือ โปรแกรมที่พัฒนาโดยระบบ AI ที่สามารถปลอมวิดีโอสุนทรพจน์ของ Barack Obama ได้เหมือนที่สุด