บทสรุป : ภูมิศาสตร์ศาสตร์ที่ช่วยสนับสนุนภารกิจช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

แม้ว่าการเสนอแนวคิด วิธีการ ตลอดจนการจัดทำข้อมูลของนักภูมิศาสตร์ทั้งหมดจะถูกนำไปใช้หรือไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ก็ตาม นักภูมิศาสตร์อย่างเราก็ยังรู้สึกภูมิใจในศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มา เนื่องจากเราได้แสดงให้หลายคนรับรู้ว่า แม้ว่านักภูมิศาสตร์จะไม่ใช่วิชาชีพที่คนไทยยอมรับเหมือนในต่างประเทศ แต่วิชาภูมิศาสตร์ที่เราได้ร่ำเรียนมากลับเป็นศาสตร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในยามวิกฤติได้อย่างมหาศาล หากทบทวนย้อนหลังในสถานการณ์การช่วยเหลือเด็ก ๆ กับองค์ความรู้ของ ศาสตร์แล้ว ผมในฐานะนักภูมิศาสตร์ผู้เขียนบทความนี้ขอสรุป ความรู้ ข้อมูลและข้อคิดเห็น ในแนวทางของ ศาสตร์ที่ได้ศึกษาและมีประสบการณ์มา เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยจำแนกเป็น 4 ด้านหลัก คือ ด้านภูมิประเทศ ด้านภูมิอากาศ (Climate) และสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather) ด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และด้านแผนที่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

1. ภูมิประเทศ

         ตามที่กล่าวอธิบายถึงลักษณะภูมิประเทศมาแล้วในตอนต้น นักภูมิศาสตร์ถูกสอนให้รู้จักและเข้าใจการเกิดและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพื้นที่หรือลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งทำให้เราเข้าใจและนำมาเป็นฐานความรู้ในการจัดการพื้นที่บริเวณต่าง ๆ ดังจะสังเกตได้จากรายงานหรือแผนการจัดการพื้นที่ทุก ๆ ฉบับจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ศึกษาทั้งสิ้น

 

 

สำหรับพื้นที่บริเวณขุนน้ำนางนอนจะมีลักษณะภูมิประเทศแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็น แนวเขาแอ่งน้ำ ทางน้ำหรือร่องน้ำ น้ำมุดรู หรือ ช่องน้ำมุด” “แอ่งน้ำมุด” “น้ำผุด หรือ ตาน้ำผุด รอยแตก” “รอยเลื่อน หลุมยุบ น้ำใต้ดิน ถ้ำ” “หินงอก” “หินย้อย” “เสาหิน” “เนินหาด ทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นหา การเข้าถึงและการนำเด็ก ๆ ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดถ้ำหลวงฯ ออกมาทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ภูมินามที่เรียก ขุนน้ำนางนอนซึ่งคำว่า ขุนน้ำซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกถึงพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมของน้ำจำนวนมาก หากภารกิจการค้นหาหรือนำเด็ก ๆ ออกมาจากถ้ำหลวงฯ ล่าช้าย่อมมีความเสี่ยงต่อชีวิตเมื่อน้ำท่วมเต็มพื้นที่ภายในถ้ำ

 

เมื่อเข้าใจในลักษณะภูมิประเทศที่เป็น ทางน้ำหรือร่องน้ำ น้ำมุดรู หรือ ช่องน้ำมุด” “แอ่งน้ำมุด” “น้ำผุด หรือ ตาน้ำผุดรวมถึง น้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งที่เติมน้ำและเชื่อมต่อทางน้ำภายในถ้ำแล้ว ทำให้เราทราบแหล่งที่มาของน้ำที่ไหลอยู่ในถ้ำ เมื่อทำให้แหล่งน้ำเหล่านั้นไหลเข้าไปในถ้ำได้น้อยลง โอกาสที่จะเข้าไปในถ้ำได้ลึก ๆ เพื่อค้นหาเด็ก ๆ ก็จะมีมากขึ้น

ส่วนภูมิประเทศที่เป็น รอยแตก” “รอยเลื่อน หลุมยุบจะเป็นลักษณะภูมิประเทศที่เป็นจุดสังเกตว่าอาจจะบริเวณปรากฏโพรงที่สามารถทะลุเข้าไปในถ้ำหลวงได้

 

         

ด้วยความรู้ ความเข้าใจของนักภูมิศาสตร์ต่อลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้นักภูมิศาสตร์สามารถอธิบายการเกิด การเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความสัมพันธ์ต่อสภาพโดยรอบทั้งทางธรรมชาติและสังคมมนุษย์ได้ เมื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อการสำรวจในพื้นที่ หรือการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์พื้นที่ทำให้การค้นหา การเข้าถึง การลดปริมาณน้ำ และอื่น ๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถสนับสนุนภารกิจการติดตามค้นหา “13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเชื่อว่าหากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภูมิประเทศ ตลอดจนปรากฏการณ์รูปแบบต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ถูกเรียนรู้และถ่ายทอดเป็นเนื้อหาที่ชัดเจนในวิชาภูมิศาสตร์แล้ว องค์ความรู้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนา ประยุกต์ใช้ประโยชน์ และใช้ประกอบการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่าปัจจุบัน

 

         2. ภูมิอากาศ (Climate) และสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather)

การเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจลักษณะภูมิอากาศและสภาพลมฟ้าอากาศของแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาของนักภูมิศาสตร์ มีส่วนช่วยให้สามารถอ่านและแปลความข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลและสภาพลมฟ้าอากาศหรือที่เรียกว่าสภาวะของบรรยากาศได้ดี

สำหรับช่วงเวลาที่มีการติดตามค้นหา “13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นักภูมิศาสตร์ทราบดีอยู่แล้วว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ เป็นช่วงของฤดูฝน การติดตามข้อมูลสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather) ในพื้นที่อย่างละเอียดเพื่อคาดการณ์การเกิดฝนในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกจะมีผลต่อปริมาณน้ำในถ้ำ แม้ว่าปัจจุบันการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาจะแม่นยำกว่าในอดีต แม้ว่าปัจจุบันจะมีข้อมูลที่ทันสมัยและแม่นยำขึ้นทั้งข้อมูลปริมาณและการเคลื่อนตัวของเมฆฝนที่วัดจากเรดาร์ตรวจวัดเมฆฝนที่สถานีตรวจวัดที่เชียงราย (website www.tmd.go.th) รวมถึงข้อมูลสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather) จากแหล่งข้อมูลอื่น เช่น จาก WMApp ที่แสดงข้อมูลสภาพสภาพลมฟ้าอากาศ  (Weather) ในแต่ละพื้นที่ที่มีโมเดลการพยากรณ์อากาศถึง 3 Models (website www.windy.com) หากแต่ในความจริงแล้วข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกในแต่ละวันแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากข้อมูลที่ได้เป็นเพียงแต่ข้อมูลสภาพสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather) รายวันหรือข้อมูลเฉลี่ยจากหลายวัน ซึ่งสถานีที่ตรวจวัดอากาศไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงถ้ำหลวงฯ หากต้องการคาดการณ์การเกิดฝนในแต่ละช่วงเวลาแต่ละวันในพื้นที่เพื่อใช้ในภารกิจนี้แล้ว ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลละเอียดและเป็นปัจจุบัน เราจึงได้พบข้อความในสื่อหลายสำนักกล่าวถึงสถานีตรวจวัดสภาพลมฟ้าอากาศเคลื่อนที่ ซึ่งหมายถึงการบอกให้ทราบว่าควรมีเครื่องมือที่ทันสมัยพอที่จะช่วยเหลือหรือสนับสนุนการจัดการกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนาการในทางวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านเทคโนโลยีมีมากขึ้น การติดตั้งเครื่องมือวัดค่าตัวแปรสภาพลมฟ้าอากาศที่มีราคาถูกในหลาย ๆ จุดแล้วเชื่อมต่อเข้าระบบประมวลผลในลักษณะ Internet of Thing (IoT) จะช่วยให้การคาดการณ์สภาพลมฟ้าอากาศแม่นยำ เป็นปัจจุบัน และครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติได้มากขึ้น หากสถาบันหรือองค์กรด้านการศึกษาวิจัย ตลอดจนนักภูมิศาสตร์ร่วมมือพัฒนาระบบการคาดการณ์สภาพลมฟ้าอากาศในแต่ละพื้นที่โดยใช้เหตุการณ์กรณีถ้ำหลวงฯ เป็นแนวทางศึกษาได้ ประโยชน์ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต

3. มนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้นักภูมิศาสตร์จะได้เรียนรู้เรื่องของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ศึกษาและเข้าใจมนุษย์ในส่วนที่มีความสัมพันธ์กันเองและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคมาแล้วก็ตาม  แต่สิ่งที่เน้นย้ำให้นักภูมิศาสตร์ตระหนักและเข้าใจในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งก็คือ แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านหลักการทรงงานที่พระองค์ทรงเน้นเสมอว่า การพัฒนาหรือการดำเนินการอะไรก็ตามต้องยึดหลักสำคัญคือให้สอดคล้องกับ ภูมิสังคม (จาก www.hii.or.th เรื่อง ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ โดย มนู มุกข์ประดิษฐ์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) ซึ่งคำว่าภูมิสังคมแยกออกเป็นคำว่า ภูมิที่หมายถึง สภาพความเป็นจริงของภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมรอบตัว ส่วนคำว่า สังคมหมายถึง สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จารีต ประเพณี วิถีชีวิต แนวคิด ทัศนคติและค่านิยม ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง ภูมิ กับ สังคม จึงสอดคล้องกับหลักวิชาภูมิศาสตร์ที่ศึกษาปรากฏการณ์ในพื้นที่ทั้งทางด้านภูมิประเทศ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การตั้งถิ่นฐานและด้านอื่น ๆ

หากพิจารณากรณีการติดตามค้นหา “13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในการติดตามค้นหาเด็ก ๆ คือ การรวมตัวของคนหลากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ ทั้งคนเมือง ชนเผ่า คนต่างเชื้อชาติ ต่างชนชั้น ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ทุกคนต่างมีความเชื่อมั่น ความศรัทธาในความดีร่วมกันเพื่อเป้าหมายสิ่งเดี่ยวคือ การช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งแต่ละคนได้อาศัยภูมิรู้ของตนเองหรือภูมิรู้ของผู้อื่นช่วยปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์นี้ และด้วยอิทธิพลทางความรู้ ความคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่มากมาย ซึ่งสามารถอธิบายในทางภูมิศาสตร์หรือทางภูมิสังคมได้หลายกรณี เช่น

 

- กรณีการคาดการณ์ตำแหน่งที่เด็ก ๆ ติดอยู่ในถ้ำหลวงฯ มีคน 3 กลุ่มที่พยายามคาดการณ์ตำแหน่งที่เด็ก ๆ ไปหลบอยู่ คือ กลุ่มผู้รู้หรือนักวิชาการที่ไม่เคยเข้าไปในถ้ำหลวงฯ ซึ่งใช้ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับลักษณะถ้ำทั่วไปคาดเดาจุดหรือตำแหน่งของเด็ก ๆ โดยอาจจะอ้างอิงสถานการณ์ทั่วไปที่ได้รับข้อมูลเช่น การคาดการณ์ว่ากลุ่มเด็ก ๆ เดินไปทางซ้ายหรือขวาเมื่อผ่านจุดที่เรียกว่าสามแยกโดยมีการเสนอให้ใช้ชุดทดสอบอีโคไลตรวจสารสะสมที่มาจากปัสสาวะ อุจจาระเมื่อติดตามค้นหาเด็ก ๆ ไปยังจุดต่าง ๆ หรือบางคนคาดการณ์จากทิศทางการไหลของน้ำซึ่งผ่านเข้ามาทางโพลงทางทิศเหนือซึ่งมีความสูงและเด็ก ๆ น่าจะไปทางขวาเพื่อไปหลบอยู่ในจุดที่มีความสูงหนีน้ำที่กำลังไหลและท่วมสูงขึ้นมา ส่วนกลุ่มผู้ที่เคยเข้าไปหรือเคยสำรวจถ้ำหลวงจะใช้ประสบการณ์คาดการณ์ตำแหน่งของเด็ก ๆ ที่เด่นชัดคือ อนุกูลฯ นักภูมิศาสตร์ที่เคยสำรวจถ้ำหลวงซึ่งได้คาดการณ์ตำแหน่งที่เด็ก ๆ จะอยู่ลึกที่สุด คือบริเวณปลายสุดของ Show cave น่าจะประมาณไม่เกิน 1 กม.จากปากถ้ำ ด้วยเหตุผลว่าถ้าเลยนี้ไป Section ไปด้านในที่เป็นเส้นทางเข้า Monk's series เส้นทางจะแคบและซับซ้อนหาเจอยากมาก คิดว่าคนทั่วไปไม่น่าหาเส้นทางเข้าไปด้านในได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนในพื้นที่ที่คุ้นเคยและเคยเข้าไปในถ้ำหลวง ดังที่ นายกระจ่าง ชัยมณี ผู้ใหญ่บ้านน้ำจำเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณขุนน้ำนางนอน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไวท์นิวส์ว่า สมัยก่อนเมื่อตอนวัยรุ่น เคยเข้าไปในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เหมือนกันแต่ไม่ได้ไปจนสุดปลายถ้ำส่วนกลุ่มเด็กๆในหมู่บ้านเคยเข้าไปเที่ยวเล่นตามวัยคะนองอยู่ กว่าจะไปจนสุดถ้ำใช้เวลาเกือบทั้งวัน คือเข้า 7:00น. กลับออกมาอีกที ตอนประมาณ 18:00น. ซึ่งภายในถ้ำถัดจากหาดพัทยา จะเป็นสถานที่เรียกว่า โพรงไม้ใหญ่ ลักษณะเป็นสถานที่กว้างมีต้นไม้โบราณใหญ่ สูงตั้งตรงขึ้นไปถึงเพดานถ้ำ และมีรูแสงด้านนอกส่องสว่างได้ ถัดจากโพรงไม้ใหญ่ก็จะเป็นสถานที่สุดท้ายปลายถ้ำ ชาวบ้านเรียกว่า ลิเก มีรูรอดเข้าไปเป็นห้องโถงเหมือนกัน ทั้งนี้ผู้ใหญ่เชื่อว่าเด็กน่าจะอยู่ถัดจากหาดพัทยาไปคือ โพรงไม้ใหญ่ ถึงแม้น้ำจะท่วมแต่ด้านข้างๆจะเป็นชั้นหินสามารถขึ้นไปหลบได้ ซึ่งจะพบว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของคนทั้ง 3 กลุ่มล้วนมีความสำคัญต่อภารกิจด้วยข้อมูลที่ได้เป็นเหตุผลความเหมาะสมทางกายภาพของถ้ำหลวงฯ ซึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเด็ก ๆ และผู้ปฏิบัติการในภารกิจค้นหาฯ และเป็นการเน้นย้ำในหลักการที่เรียกว่า ภูมิสังคมอย่างชัดเจน

- กรณีภายนอกถ้ำซึ่งต้องการค้นหาปล่องหรือโพรงทางเข้าไปในถ้ำหลวงฯ พบว่านอกจากต้องใช้ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์กายภาพและความรู้การแปลและวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมแล้ว เรายังพบว่าในพื้นที่ยังมีกลุ่มคนที่คุ้นเคยพื้นที่ การค้นหาปล่องหรือโพรงได้อาศัยคำบอกเล่าและความคุ้นเคยของพรานป่าที่เคยเดินป่า หาของป่าและล่าสัตว์บริเวณนี้มาแล้วกว่า 10 ปี และเคยพบโพรงบนเขาหลายโพรง โดยคนกลุ่มนี้เป็นผู้ช่วยนำทางกลุ่มผู้ที่จะลงไปสำรวจในโพรงและทำให้เข้าถึงตำแหน่งปล่องหรือโพรงที่จะเข้าสู่ถ้ำได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีการกล่าวว่าได้รับการช่วยเหลือจากคนในพื้นที่โดยช่วยค้นหาตำแหน่งน้ำมุดรูและจุดเบี่ยงน้ำ

- นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่น่าสนใจคือ ความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์ซึ่งเราจะพบเห็นพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดเหตุการณ์ฯ เริ่มตั้งแต่พิธีการขอขมาเจ้าแม่นางนอนและเจ้าป่าเจ้าเขาของชาวบ้านและชนเผ่า พิธียกยอฮ้องขวัญของพ่อแม่เด็ก ๆ พิธีการทรงเจ้า และพิธีกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะพิธีเปิดปากถ้ำจากครูบาบุญชุ่มที่ทำให้พลังกาย พลังใจ และพลังความหวังของบรรดาญาติและผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือเด็ก ๆ มีมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่จะเป็นแค่ความเชื่อตามวิถีชีวิตชาวลานนาเท่านั้น แท้จริงแล้วไม่ว่าจะชาวบ้าน นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ต่างก็แสดงความเชื่อ ความศรัทธาในพิธีกรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติการต่าง ๆ ล้วนต้องแสดงความเคารพต่อธรรมชาติก่อนและหลังการปฏิบัติการเสมอ โดยจะพบว่าหลังการปฏิบัติการในเหตุการณ์ “13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปฏิบัติการณ์ในพื้นที่เสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งความสงสัยของนักดำน้ำชาวต่างชาติที่ไปพบเด็ก ๆ ครั้งแรก ซึ่งเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่ทำให้เขาดำน้ำไปโผล่ในจุดที่พบเด็กๆ ซึ่งเป็นจุดปลายของเชือกที่ใช้ประกอบนำทางดำน้ำพอดี โดยเขากล่าวว่า เขาอดคิดหรือสงสัยไม่ได้ว่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ขุนน้ำนางนอนมีจริงทั้งนี้ที่กล่าวถึงอิทธิพลของความเชื่อ ความศรัทธาก็เนื่องด้วย หลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ เรื่องของความเชื่อความศรัทธามักจะเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ กิจกรรม หลายโครงการของภาครัฐและเอกชน หากคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นไม่สอดคล้องก็มักจะไม่ได้รับผลสำเร็จซึ่งแนวคิดภูมิสังคม ให้ความสำคัญในเรื่องนี้พอสมควร

ด้วยพลังของมนุษย์มีผลอย่างมหาศาลต่อการกระทำและการตัดสินใจในพื้นที่ ทำให้คนกลุ่มใหญ่ทั้งกลุ่มผู้นำ(ผู้ที่มีภาวะผู้นำ) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ และกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจ โดยแต่ละกลุ่มได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนทั้งในภารกิจหลัก (การค้นหาและนำเด็กออกมาจากถ้ำ) และภารกิจสนับสนุน (การลดปริมาณน้ำ การสนับสนุนอาหาร การช่วยด้านความสะอาดสถานที่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) การบริหารจัดการภารกิจ ทั้งด้านการชี้นำ การวางแผน การสร้างศรัทธาให้เกิดการร่วมปฏิบัติงานไปในทิศทางที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันราวกับมีการเตรียมการบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพทั้งหน่วยที่เป็น Core Business ไปจนถึงหน่วยสนับสนุนปลายทาง โดยการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่พบว่ามีการจัดการเชิงพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดภารกิจด้วยการวางแผนจัดแบ่งพื้นที่ปฏิบัติภารกิจแต่ละประเภทเป็นโซน ๆ อย่างชัดเจน และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ก็มีการปรับเปลี่ยนการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับการที่นักภูมิศาสตร์ได้มีการเรียนรู้ในหลักการ แนวคิดการจัดการและการแบ่งเขต การจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปรากฏเนื้อหาอยู่ในวิชาภูมิศาสตร์ภูมิภาคและวิชาภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน (และภายหลังได้นำแนวคิดวิธีการมาขยายผลในรายละเอียดเป็นหลักการในการวางผังเมือง) หากแต่ในสถานการณ์นี้การวางแผน การจัดการพื้นที่ไม่ได้กระทำโดยนักภูมิศาสตร์ แต่วางแผนและควบคุมการบริหารพื้นที่โดยมืออาชีพของแต่ละภารกิจ ภายใต้การควบคุมและบริหารภารกิจของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (ผวจ.เชียงราย ในขณะนั้น) ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านพื้นที่ (จบด้าน Geodetic Science and Surveying)

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงความเชื่อมโยงเหตุการณ์ “13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนกับแนวคิดภูมิศาสตร์มนุษย์แล้ว คงสามารถอ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อีกอย่างมากมาย เมื่อพบและเข้าใจในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ การจัดการภารกิจหรือการพัฒนาพื้นที่ย่อมมีแนวโน้มที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องของภาวะผู้นำ ความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์มักจะให้น้ำหนักต่อความสำคัญไม่มากนัก แต่สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้ว เราเห็นว่าปัจจัยด้านมนุษย์มีความสำคัญและส่งผลต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการในพื้นที่อย่างสูง


          4. ด้านแผนที่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

ในด้านแผนที่และเทคโนโลยีส่วนใหญ่นักภูมิศาสตร์สมัยใหม่จะให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากแต่หลายครั้งการไม่แม่นยำในองค์ความรู้พื้นฐานของศาสตร์ ทำให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำประโยชน์ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ หรือบางครั้งอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด

หลายครั้งเช่นกันที่เครื่องมือพื้นฐาน เช่น เข็มทิศ เทปวัดระยะ แผนที่กระดาษ ถูกใช้ศึกษา วิเคราะห์ และอธิบายปรากฏการณ์ทางพื้นที่ได้ชัดเจนและเหมาะสมกับสถานการณ์กว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัย  สำหรับการค้นหาเด็ก ๆ ในถ้ำหลวงฯ นักภูมิศาสตร์นำเครื่องมือจำนวนมากมายมาใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐานประกอบการสำรวจ เช่น เข็มทิศ เทปวัดระยะ มาจนถึงแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุตำแหน่ง GPS และเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เครื่องมือเหล่านั้นได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลที่มี โดยนักภูมิศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลใหญ่ ๆ 4 แหล่งเป็นเครื่องมือประกอบการทำงาน คือ

1) ข้อมูลแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000

2) ข้อมูลแผนที่ที่ได้จากการสำรวจถ้ำขุนน้ำ-นางนอนของ Mr. Martin Ellis

3) ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม

4) ข้อมูลตำแหน่งพิกัดจากเครื่อง GPS

ส่วนข้อมูลและแผนที่อื่น ๆ ที่นำมาใช้ ส่วนใหญ่เกิดจากการนำเอาข้อมูลทั้ง 4 แหล่งข้างต้นไปประยุกต์ดัดแปลง ผสมผสานจนเกิดเป็นแผนที่ชุดใหม่ เช่น แผนที่รอยเลื่อน แผนที่ประเภทดิน แผนที่ประเภทหิน แผนที่ภูมิประเทศ 3 มิติ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อใช้ข้อมูลหรือข้อมูลที่ทำจากฐานข้อมูลทั้ง 4 แหล่งเพื่อตัดสินใจปฏิบัติการณ์ภารกิจติดตามค้นหาเด็ก ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพตามความเหมาะสมและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด สิ่งที่ควรเข้าใจและรับรู้ คือ คุณสมบัติและที่มาของข้อมูลฐานดังกล่าวเนื่องจากข้อมูลที่มีล้วนมีความคลาดเคลื่อน การใช้งานจึงทำได้ภายใต้ข้อจำกัดของความคลาดเคลื่อนที่มีอยู่ในข้อมูลนั้น ซึ่งจะแยกอธิบายในมุมของความคลาดเคลื่อนเพื่อให้เข้าใจในภารกิจค้นหาที่ต้องเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและจุดต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกถ้ำหลวงฯ

 

1) แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000

แผนที่ชุดนี้เป็นแผนที่ที่เกิดจากการสร้างด้วยการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ใช้คอมพิวเตอร์และมนุษย์เป็นผู้สร้าง ผ่านขบวนการสร้างหลายขั้นตอน หากใช้แผนที่ฯ ที่เป็น Hard Copy ก็จะมีความคลาดเคลื่อนระดับหนึ่ง หากใช้แผนที่ฯ ที่เป็น Soft Copy หรือที่เรียกว่าแผนที่เชิงรหัส ปกติในหน่วยงานราชการหรือเอกชนมักจะทำซ้ำข้อมูลจาก Hard Copy เป็น Soft Copy โดยการคัดลอกด้วยมนุษย์หรือด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยเรียกว่าขบวนการ Digitizing และ Vectorization ตามลำดับ ทั้ง 2 วิธีล้วนเกิดความคลาดเคลื่อนตามเหตุที่ควรเป็น โดยการคัดลอกด้วยวิธีการ Digitize แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 เข้าระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ทำการคัดลอกกำหนดจุดตำแหน่งบนแผนที่คลาดเคลื่อนไป 1 มิลิเมตรหมายถึงตำแหน่งผิดไปถึง 50 เมตรต่อจากความคลาดเคลื่อนของแผนที่ภูมิประเทศฯที่มีอยู่แล้ว ส่วนการทำ Vectorization จะมีความคลาดเคลื่อนตั้งแต่ขบวนการ Scan แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ซึ่งต้องกำหนดความละเอียด (Resolution) ที่เหมาะสม มีขบวนการปรับแต่งภาพที่ Scan ตลอดจนการกำหนดประเภทของ Raster File ก่อนนำมาแปลงเป็น Vector ซึ่งขบวนการ Vectorization ก็มีความคลาดเคลื่อนเพิ่มจากความคลาดเคลื่อนเดิมของแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 เช่นกัน ดังนั้น เมื่อนำแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ไปใช้ในพื้นที่จริง จึงเหมาะสมกับการนำไปใช้ในการวางแผนในภาพกว้าง หากจะนำไปประกอบการสำรวจเพื่อค้นหาตำแหน่งคงทำได้ดีในลักษณะของการชี้เป้าตำแหน่ง ความแม่นยำในตำแหน่ง ระยะทาง พื้นที่ ระดับความสูงและความลาดชัน จึงอาจจะอยู่ในระยะบวกลบหลายสิบเมตร

 

2) แผนที่ที่ได้จากการสำรวจถ้ำขุนน้ำ-นางนอนของ Mr. Martin Ellis

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าแผนที่ชุดนี้เป็นแผนที่ที่สำรวจผ่านเครื่องมือที่เป็นเข็มทิศและการวัดระยะทาง และด้วยลักษณะภูมิประเทศการสำรวจจึงน่าจะทำได้แบบวงรอบเปิด ซึ่งความคลาดเคลื่อนที่เกิดน่าจะมีมากพอสมควร ถึงแม้ว่าปัจจุบันจุดเริ่มต้นของการสำรวจจะอยู่ภายนอกถ้ำและสามารถรู้ตำแหน่งพิกัดที่แม่นยำจากเครื่อง GPS ได้ก็ตาม แต่เมื่อมีการขยายจุดสำรวจเข้าไปในถ้ำ ความถี่ของการตั้งจุดสำรวจ ความถี่ของการรังวัดเข้าหาตำแหน่งพื้นและผนังของถ้ำโดยรอบจะถี่-ห่าง-มาก-น้อยอย่างไร ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม ความละเอียดซับซ้อนขององค์ประกอบที่อยู่ในถ้ำ ไม่ว่าจะเป็น หินงอก หินย้อย เนินหาดทราย ก้อนหิน ร่องน้ำ ฯลฯ ที่ปรากฏตลอดในถ้ำขนาดใหญ่ที่มีความกว้างของทางเดินถึง 5-15 เมตร ความสูง 10-30 เมตร บางช่วงของโถงใหญ่สูงถึง 60 เมตร กว้างถึง 20 เมตร บางช่วงแคบในระยะเพียง 30-50 เซนติเมตร ล้วนทำให้การจัดเก็บรายละเอียดข้อมูลย่อมยุ่งยากและใช้เวลาซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมความแม่นยำของข้อมูล

เมื่อนำข้อมูลแผนที่ของ Mr. Martin Ellis ไปซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 หรือข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมย่อมต้องพิจารณาความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดเมื่อนำไปตัดสินใจปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น การขุด เจาะภูเขาเพื่อให้ทะลุเข้าไปในถ้ำฯ เป็นต้น

 

3) ภาพถ่ายจากดาวเทียม

ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นภาพถ่ายที่เกิดจากการถ่ายภาพของดาวเทียมซึ่งโคจรรอบโลกและมีอยู่หลายดวง ภาพถ่ายที่ได้จะหลากหลายคุณสมบัติ ภาพถ่ายที่รู้จักและถูกนำมาใช้ทั่วไปโดยส่วนใหญ่จะเน้นที่มีรายละเอียดสูงเพื่อการอ่านและมองเห็นให้เหมือนมองลักษณะภูมิประเทศจากที่สูง ภาพถ่ายบางภาพยากในการมองเห็นลักษณะภูมิประเทศ การใช้ประโยชน์ต้องอาศัยการแปลความจากค่า Digital Number โดยผู้เชี่ยวชาญและโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับงานสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)

สำหรับสถานการณ์นี้ การใช้ข้อมูลส่วนใหญ่ของกลุ่มนักภูมิศาสตร์ต้องการเพื่อการค้นหาตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งโพรงหรือหลุมยุบเพื่อเข้าสู่ถ้ำหลวงฯ ตำแหน่งและเส้นทางน้ำที่ไหลเข้าสู่ถ้ำฯ เป็นต้น เมื่อนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาใช้จำเป็นต้องเลือกคุณสมบัติของข้อมูลที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ ทั้งคุณสมบัติด้านความละเอียดของภาพถ่ายฯ (Resolution) ความชัดเจนของภาพ เวลาและพื้นที่ที่ทำการถ่ายภาพซึ่งขึ้นอยู่กับรอบการโคจรผ่านมายังตำแหน่งที่ต้องการ ประกอบกับช่วงการเกิดเหตุการณ์เป็นฤดูฝนจะมีเมฆมาบดบังการถ่ายภาพตลอด การใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ถ่ายด้วยช่วงคลื่นทะลุทะลวงก้อนเมฆและสิ่งปกคลุมบนพื้นดิน จึงได้ข้อมูลภาพที่มีความละเอียดน้อย

การนำเอาข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาใช้ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดนั้น นักภูมิศาสตร์เลือกใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มีอยู่ โดยเลือกภาพที่มีความละเอียดของข้อมูลภาพมาก ซึ่งจะมีความละเอียดประมาณ 15-30 เมตร (ที่พบว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมมีความละเอียดถึง 1 เมตรก็มีข้อจำกัดบางอย่างสำหรับการนำมาใช้งานที่ต้องการความแม่นยำ เช่น มีค่า Digital Number เฉพาะ Digital Surface Model (DSM) เท่านั้น แต่นักภูมิศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ใช้ความพยายามในการนำภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำภาพถ่ายจากดาวเทียมมาซ้อนทับกับข้อมูลอื่น ๆ แล้วแสดงผลให้เห็นเป็นภูมิประเทศรูปสามมิติที่ชัดเจน การนำเอาค่า DEM มาคำนวณค่าความลึกของหลุมยุบบนภูเขาเพื่อหาโพรงที่เป็นทางเข้าถึงถ้ำหลวง รวมถึงการนำเอาค่า DEM มาคำนวณพื้นที่รับน้ำประกอบการคาดการณ์ตำแหน่งที่เด็ก ๆ ไปหลบพักรออยู่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมแล้ว ในการเลือกและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบอกตำแหน่งจะพบว่าจุดที่ได้ประกอบด้วยหลาย Pixels หาก 1 Pixel กว้างยาวด้านละ 15 เมตร หมายความว่าคลาดเคลื่อนหลายสิบเมตร ดังนั้นข้อมูลที่ได้จะมุ่งสู่การนำไปชี้เป้าให้ใกล้เคียงกับตำแหน่งในพื้นที่จริง ถึงแม้จะมีความคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควรแต่ยังสามารถนำไปช่วยค้นหาและคาดการณ์ตำแหน่งของเด็ก ๆ ตำแหน่งเส้นทางน้ำไหล ตำแหน่งน้ำมุดรู ตำแหน่งหลุมยุบ รวมถึงตำแหน่งโพรงที่จะเข้าถึงถ้ำหลวง ได้ง่ายกว่าการสุ่มเดินค้นหาไปทั่วทั้งภูเขา

 

4) ตำแหน่งพิกัดจากเครื่อง GPS

ข้อมูลตำแหน่งที่ได้จากเทคโนโลยี GPS เกิดจากการคำนวณตำแหน่งโลกจากดาวเทียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้โดยตรงเมื่อต้องการรู้ตำแหน่งที่ชัดเจนในพื้นที่ หรือต้องเข้าสู่ตำแหน่งพิกัดทั้งขบวนการสำรวจ ค้นหา ชี้เป้าและการสื่อสารบอกตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นระบุตำแหน่งเป้าหมายในพื้นที่เป็นค่าพิกัด นักสำรวจที่มีเครื่อง GPS จะสามารถอ่านค่าและเดินทางไปยังตำแหน่งนั้นได้ ปัจจุบันเครื่อง GPS ที่ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือก็มีความถูกต้องแม่นยำพอสมควร ซึ่งความแม่นยำของการอ่านค่าพิกัดตำแหน่งของ GPS แต่ละเครื่องแตกต่างกันขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเครื่อง-รุ่น แต่สำหรับกรณีที่นำเครื่อง GPS หรืออุปกรณ์ที่มีเครื่อง GPS ติดตั้งมาใช้ในเหตุการณ์นี้ พบว่าสิ่งที่ทำให้ค่าความแม่นยำของการบอกพิกัดตำแหน่งลดลง คือการรับสัญญาณจากดาวเทียมเมื่ออยู่ในป่า ในหุบเขาเนื่องจากในพื้นที่ที่มีสิ่งปกคลุม มีมุมบดบังการรับสัญญาณดาวเทียมทำให้จำนวนดาวเทียมที่รับสัญญาณได้ไม่มากพอที่จะทำให้การคำนวณแม่นยำ หากต้องการความแม่นยำจำเป็นต้องนำค่าข้อมูล Real Time Kinematic มาปรับแก้ให้ค่าพิกัดแม่นยำขึ้นต้องอาศัยการรับส่งข้อมูลผ่านระบบ Internet ซึ่งเป็นข้อจำกัดของพื้นที่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อนักภูมิศาสตร์ทำการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ต้องการค้นหาในพื้นที่ได้ เช่น ชี้เป้าตำแหน่งและความลึกของหลุมยุบได้ (แม้ขนาดความละเอียดของภาพจะมากถึง 30 เมตรต่อ 1 Pixel)  เครื่อง GPS ที่มีอยู่และรับสัญญาณดาวเทียมได้ก็จะเป็นเครื่องนำทางที่สำคัญที่จะนำไปสู่ตำแหน่งนั้น ๆ ได้ใกล้เคียงขึ้น

          อนึ่ง การใช้เทคโนโลยีในภารกิจนี้ ถึงแม้จะมีการกล่าวอ้างว่ามีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ดีและแม่นยำเยี่ยมยอดที่สุดที่ทีมจากต่างประเทศนำมาใช้ แต่จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่ยังมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เยี่ยมยอดที่สุดไม่สามารถใช้ได้เยี่ยมยอดตามที่กล่าวอ้าง ข้อมูลทั้ง 4 แหล่งจึงมีความจำเป็นและเมื่อนำมาใช้จึงใช้ได้ในระดับของการชี้เป้าตำแหน่งในภาพกว้าง หากนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญต้องการความถูกต้องแม่นยำ เช่น การขุดเจาะภูเขาหินปูนให้ทะลุไปถึงถ้ำหลวงฯ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเชิงตำแหน่งย่อมมีมากพอสมควร ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่นักภูมิศาสตร์จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจก่อนที่จะเกิดความผิดพลาดจนเกิดอันตราย

 

บทสรุป :

สำหรับนักภูมิศาสตร์ นอกจากการใช้แผนที่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์และระบุตำแหน่งแล้ว นักภูมิศาสตร์ยังให้ความสำคัญกับลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสภาพลมฟ้าอากาศ ตลอดจนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นจากหลายกรณีที่ต้องเข้าถึงตำแหน่งในพื้นที่จริง การใช้ประสบการณ์ในพื้นที่ของมนุษย์สามารถนำมาเป็นเครื่องมือปฏิบัติภารกิจการค้นหาและการเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างเยี่ยมยอดกว่าเครื่องมือที่ทันสมัย ในบางสถานการณ์ที่ในพื้นที่ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เท่าที่มีมาเป็นเครื่องมือยังสามารถนำมาซึ่งผลสำเร็จของภารกิจได้หากมีความรู้ที่แท้จริงในเรื่องนั้น ๆ  และเมื่อมีเครื่องมือดี ใช้องค์ความรู้ทางศาสตร์นำการใช้เครื่องมือก็จะยิ่งทำให้สามารถใช้งานเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์และบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว

จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีค้นหาเด็ก ๆ ผมเชื่อว่านักภูมิศาสตร์จำเป็นต้องมีองค์ความรู้และประสบการณ์ทั้งด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ (Climate) และสภาพลมฟ้าอากาศ (Weather) และด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ส่วนการใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีนั้น ในอนาคตเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะสร้างสรรค์ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดและแม่นยำมากมายให้นักภูมิศาสตร์ นักวิชาการ ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้นำไปใช้งาน เพียงแต่เขาเหล่านั้นจะสามารถใช้ความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามความเหมาะสมของพื้นที่ เวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้หรือไม่

สำหรับสถานการณ์นี้ มีข้อมูลและเรื่องเล่าจากนักภูมิศาสตร์จำนวนมากมายเกินกว่าที่จะนำมาเขียนบอกเล่าได้หมด ข้อมูลที่นักภูมิศาสตร์คิด เขียน จัดทำด้วยเครื่องมือพื้นฐานหรือด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ส่งผ่านสื่อ Social หรือจัดทำขึ้นในพื้นที่ก็ตาม ถึงแม้ว่าข้อมูลบางส่วนถูกใช้ในภารกิจ บางส่วนอาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่ในฐานะนักภูมิศาสตร์คนหนึ่งมั่นใจและเชื่อว่าข้อมูลมากมายเป็นประโยชน์ต่อภารกิจในขณะนั้น และข้อมูลมากมายจะถูกนำมาประกอบการศึกษาในอนาคต ข้อมูลเหล่านั้นจะทำให้หลายคนเข้าใจและตระหนักในศาสตร์ที่เรียกว่าภูมิศาสตร์ ศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลากหลายสถานการณ์

 

ขอขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์ภูมิศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ทุกท่านที่นำเสนอความรู้ ความคิดสนับสนุนการค้นหาเด็ก ๆ ในภารกิจนี้ และขอขอบพระคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงการเขียนบอกเล่าเรื่องราวนี้ ซึ่งประกอบด้วย 

1.      รายงานการสำรวจธรณีฟิสิกส์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

2.      สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส คมชัดลึก แนชั่น ไทยรัฐทีวี 

3.      Admin และสมาชิก Facebook : Geo CMU Alumni, Mapping for Search & Rescue Mission @Mae Sai, Thai Geographers, Thai navySEAL, Channel NewsAsia,  และ Anukoon Sorn-ek

4.      Website : www.thaipost.net, www.khaosod.co.th, news.thaipbs.or.th, www.naewna.com, และ dmrwebgis.maps.arcgis.com

5.      นักภูมิศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่กรุณาให้ข้อมูลและอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล

6.      Google Earth

             และแหล่งข้อมูลอื่นใดที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

 

          อ่านตอน 1

          อ่านตอน 2

          อ่านตอน 3

          อ่านตอน 4

 

 

 

 

 

 

  •  ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 5 ถึง 12 องศาเหนือ และลองจิจูด 97 ถึง 106 องศาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 513115 ตารางกิโลเมตร

    อ่านเพิ่มเติม...
  • ปัจจัยที่ทําให้เกิดภัยพิบัติดินถล่ม ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา ลักษณะการใช้ที่ดิน และลักษณะสภาพภูมิอากาศ

    The factors that cause landslide disasters are topographical features, geological and soil characteristics, land use characteristics, and climate characteristics.

    อ่านเพิ่มเติม...
JSN Epic is designed by JoomlaShine.com